ตามคาด กนง. คงดอกเบี้ย 0.5%

ตามคาด กนง. คงดอกเบี้ย 0.5%

กนง. มติเอกฉันท์ "คง" ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% พร้อมปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ “ดีขึ้น” เหลือหดตัว 7.8% จากเดิมหดตัว 8.1% เชื่อยังต้องใช้เวลาอีก 2 ปีกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ระดับเดียวกับในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด

วันนี้ (23 ก.ย.) นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวน้อยกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อยมาอยู่ที่ -7.8% จากเดิม -8.1%

แต่ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญและยังต้องระวังความเสี่ยงการระบาดระลอกสอง โดย กนง. ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้า เหลือ 3.6% จากเดิมที่ 5%

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยกว่าที่ประเมินไว้ และมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ กนง. เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลายเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลมากขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อย แต่ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิมตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นสำคัญ ด้านอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้าง ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอ การจ้างงานและรายได้ยังคงเปราะบางและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

กนง.คาดว่า จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างเศรษฐกิจกับผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม กนง.จึงเห็นว่าในระยะข้างหน้ามาตรการภาครัฐจำเป็นต้องตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น โดยจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่องและจะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจและการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

อัตราเงินเฟ้อปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยกว่าประมาณการเดิม จากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ขยายตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยอยู่ใกล้เคียงกรอบล่างของเป้าหมายในปี 2564 ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาริชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะเดียวกันส่วนต่างของผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลเริ่มปรับลดลงบ้างในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวน้อยลง โดยส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากมาตรการสินเชื่อของภาครัฐและการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ กนง. เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้เงินบาทอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ แต่ กนง. เห็นว่า หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพแม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง

กนง. เห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อย และธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ

สำหรับในอนาคตข้างหน้า กนง.จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเพื่อประกอบการดำเนินโยบายการเงินระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น