'สามารถ' เตือน 'พิธา' อย่าเป็นทาร์ซาน ชี้ลูกพรรคห่วง 'ก้าวไกล' ถูกยุบ

'สามารถ' เตือน 'พิธา' อย่าเป็นทาร์ซาน ชี้ลูกพรรคห่วง 'ก้าวไกล' ถูกยุบ

ผอ.ศูนย์ร้องทุกข์ พปชร. "สามารถ" เตือน "พิธา" อย่าเป็นทาร์ซาน ชี้ลูกพรรคห่วง "ก้าวไกล" ถูกยุบ

วันนี้ (23 ก.ย.) นายสามารถ เจนชัยจิตวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” โดยระบุว่า ตนได้รับข้อมูลจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งทำตัวเป็นนักโต้คลื่นไม่สนความเดือดร้อนและความวุ่นวายของประชาชน ตรงไหนที่มีกระแสมวลชนสนับสนุนพรรคพวกหรือแนวคิดของตนเองก็จะลงพื้นที่และไม่สนคำเตือน ส.ส. หรือสมาชิกพรรคเลย โดยตนเคยได้รับข้อมูลจากคนในพรรคก้าวไกลที่เป็นกังวลเรื่องยุบพรรค

นายสามารถ กล่าวอีกว่า การกระทำของ นายพิธา ต้องยึดหลักข้อกฎหมาย บทบัญญัติ จารีตประเพณีทางการเมือง อย่าไปหลงเชื่อตามคณะก้าวหน้า ทั้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , นายปิยบุตร แสงกนกกุล , น.ส.พรรณิการ์ วานิช เพราะอาจทำให้พรรคถูกยุบได้ เนื่องจากตนเห็นว่าจากการปราศรัย ช่วงวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 เนื้อหากลุ่มม็อบปลดแอกไม่มีข้อมูลที่ตรวจสอบรัฐบาลหรือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเลย แต่ต้องการเพิ่มความขัดแย้งเข้าไปอีก ซึ่งข้อเรียกร้องมุ่งเป้าต่อสถาบันอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย และต้องการอยากให้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน มีการโจมตีคนเห็นต่างในโลกออนไลน์ เช่น นายปลาวาฬ วรสิทธิ์ อิสสระ เจ้าของศรีพันวา ก็โดนทัวร์ลงเช่นเดียวกับตนที่เคยโดน แต่ตนไม่เคยสนใจเพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นขบวนไอโอการจ้องโจมตีของกลุ่มใด

วันนี้สิ่งที่ได้เห็นนายพิธาสนับสนุนกลุ่มไอลอว์ ที่ให้ประชาชนลงชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประมาณ 1 แสนคน โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ไม่ใช่เพียงกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. เท่านั้นแต่ยังมีปัญหามากมาย นับถอยหลังไปกว่า 40 ปี และให้อำนาจ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนขอชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญมีการแก้ไขมาโดยตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการปกครองเพื่อความผาสุขของประชาชนในประเทศ

เราเคยมี ส.ว. ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 เข้ามาแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฎว่ามีการซื้อกิจการธุรกิจการเมืองอย่างที่เห็นในอดีต เช่น ผัว ส.ส. เมีย ส.ว. ไม่ทราบว่านายพิธาเคยอ่านประวัติศาสตร์หรือไม่ ทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาเกิดขึ้น จนมีม็อบลงถนน ปี 2548 คือการเริ่มต้นของการแบ่งสีเสื้อครั้งแรกในประเทศไทย และปี 2549 เกิดการรัฐประหาร เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 เอื้อให้เกิดเผด็จการรัฐสภาได้ง่าย และเอื้อธุรกิจการคอรัปชั่นมากมาย ไม่สามารถตรวจสอบได้

ต่อมา ได้เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เลือกและแต่งตั้ง ส.ว. อย่างละครึ่ง ปรากฎว่ามีการผลักดันแก้กฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เข้าสภา ผ่านพิจารณา 3 วาระอย่างรวดเร็วทำให้ประชาชนลงถนนหลักล้านคนไม่เห็นด้วย ในปี 2557 จนเกิดการรัฐประหาร ตนไม่เข้าใจว่า นายพิธา ทำอยู่นั้นเป็นการเห็นแก่ตัวหรืออ่านหนังสือน้อยจึงไม่เข้าใจ หรือมีปัญหาทางแนวความคิด

ตนไม่คิดว่านายพิธา ติดกระดุมผิดแต่อาจจะใส่เสื้อผิดเพราะไม่มีกระดุม ซึ่งต้องเข้าใจหลักประชาธิปไตยก่อนว่าต้องยอมรับกติกาเสียงข้างมากและไม่ลืมเสียงข้างน้อย แต่นายพิธา ลืมเสียงข้างมากพร้อมผลักดันให้เสียงข้างน้อยโดยพูดข้อมูลเท็จ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 มีประชาชนลงประชามติ 16.8 ล้านคน แต่มีคนเพียงหลักแสนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายพิธาจึงมาโหนถ้าไม่ใช่ทาซานก็คงเป็นนักโต้คลื่นที่อยากสร้างความขัดแย้งให้ประเทศชาติ

วันนี้มีการประชุมร่วม 2 สภา ทั้ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี 6 ร่าง จึงอยากให้นายพิธาได้ใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจะดีกว่า เพราะไม่เช่นนั้นจะเข้าคำว่า "ปากว่าตาขยิบ" โดย นายพิธาเกลียดรัฐประหารเพราะตรงกับวันที่ 19 ก.ย. บิดาเสียชีวิตทำให้ต้องกลับประเทศไทย โดยขอให้นายพิธาต้องลืมความขัดแย้งหากไม่อยากให้เกิดรัฐประหารอีก ดังนั้นนักการเมืองต้องช่วยกันถ้าไม่อยากให้คนอื่นมาแก้ไขปัญหาให้ เนื่องจากเราเคยมีบทเรียนในอดีตแล้ว ดังนั้นตนจึงอยากให้นายพิธาลืมแนวคิดของคณะก้าวหน้าไม่เช่นนั้นอาจจะได้เห็นคนย้ายพรรคอีก ตนรู้สึกเป็นห่วงส.ส.พรรคก้าวไกลที่ทุกคนอยากทำงานเพื่อประชาชนมากกว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร