ดูปลา เห็นป่า ในวันที่'ป่าพุระกำ'กำลังจะถูกทำร้าย

ดูปลา เห็นป่า ในวันที่'ป่าพุระกำ'กำลังจะถูกทำร้าย

เรื่องราวกะเหรี่ยง"พุระกำ" (ตอน 3) อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่อยู่ไม่ไกลจากป่าต้นน้ำ กำลังเป็นประเด็นความขัดแย้ง(อีกแล้ว)ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน

............

ผู้เขียนไปต่างจังหวัดเดินทางติดต่อกันอยู่หลายวัน หมดแรงไปมากเพราะอายุเข้าสู่วัยอีป้าแก่ๆ ไปหลายปีแล้ว จะเขียนเรื่องพุระกำต่อ เลยยักแย่ยักยัน ไม่ได้ถึงฤกษ์ชัยอันเหมาะสมสักที

มาวันนี้ฤกษ์บนเป็นราชาฤกษ์ ทำสิ่งใดจะเป็นมงคลประสบผลสำเร็จ ฤกษ์ล่างเป็นทาษี อันหมายถึงขี้ข้าผู้หญิง เหมาะแก่การไถ่ถอน

ดูๆแล้ว เอ๊ะ สมควรดีแฮะ  ดิฉันก็เป็นขี้ข้าหญิงของแม่ธรณี สบโอกาสเหมาะที่จะได้ไถ่ถอนข้อติดค้างคำสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะมาเล่าเรื่องดูปลาเห็นป่า และที่มาของชื่อพุระกำ

ตอนทีมงานเราเดินลุยน้ำ กระทำการสำรวจป่าสำรวจปลาที่สบห้วยปิวอลงลำน้ำภาชี ดิฉันถามน้องกะเหรี่ยงเปเล่ กัวพู่ว่า หมู่บ้านกะเหรี่ยงชายขอบนี้ แห่งสุดท้ายริมเทือกเขาตะนาวศรี ข้ามสันเขาไปก็เข้าเขตประเทศพม่าแล้ว--

160084091115

เหตุใดพื้นที่นี้จึงถูกเรียกว่า “พุระกำ”

น้องเปเล่ตอบมาว่า ต้นน้ำพุระกำอยู่ไกลจากจุดนี้ไปราว 5 กิโลเมตร เป็นจุดน้ำใต้ดินพุขึ้นมา กลางดงป่าต้นระกำขนาดใหญ่ รถเข้าไปได้เพียงแค่ 3 กม. อีก 2 กม. ต้องเดินป่าลุยป่าเข้าไป ในหน้าต้นระกำออกลูก พวกหมีๆ ครอบครัวหมี  พ่อหมี แม่หมี ลูกหมี จะมาจากทั่วทุกสารทิศ มาบุฟเฟต์รุมกินลูกระกำสุกอย่างเถิดเทิงอารมณ์มาก 

น้องเปเล่ไม่เคยเข้าไปถึงต้นน้ำพุระกำสักที แต่กะเหรี่ยงเฒ่ารุ่นเก่าเขาเข้าไปกัน และบอกมาว่า จะเข้าไปที่ต้นน้ำพุระกำต้องระวังให้มาก เพราะเป็นดงหมี ที่สำคัญคือ เขตป่าพุระกำ มีแต่ต้นระกำไม่มีต้นไม้ใหญ่ให้ปีนหนีบรรดาหมีๆ  

ต้นน้ำพุระกำจึงถือเป็นพื้นที่อันตรายอยู่มาก ประมาทไม่ได้ เซ่อซ่าเข้าไปจะโดนหมีขบกะโหลกให้ระกำช้ำทรวงเอาได้ง่ายๆ

จบเรื่องระกำกับหมี เรามาดูปลาดูป่ากันดีกว่า

ดังที่กล่าวมาในตอน 2 ก่อนหน้านี้แล้ว(มีลิ้งค์ด้านล่าง อ่านตอน 1-2)  ด้าน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ให้ความรู้ไว้ว่า ปลาที่พบในห้วยธารเขตป่าพุระกำนี้ โดยเฉพาะปลาดักแม่กลอง (หน้าตาคล้ายปลาดุก) กับปลาแขยงเขา ทั้ง 2 ชนิดบ่งบอกให้รู้ว่าคุณภาพห้วยน้ำและพื้นที่ป่าพุระกำ เยี่ยมสุด ดีสุด

ปลาดักแม่กลองกับปลาแขยงเขา เป็นเสมือนดัชนีบ่งชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์อย่างเยี่ยมยอดเป็นป่าชั้น 1 เพราะถ้าป่าพัง น้ำจะพังตามมา ปลา 2 ชนิดนี้ จะสิ้นสูญไปก่อนปลาอื่นๆ  

160084170358

มาวันนี้เลยขอเล่าถึงการใช้ปลาเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพน้ำในป่า บอกถึงความสมบูรณ์ของป่า ของระบบนิเวศน์ ดังที่ดิฉันได้รับความรู้มาจากดร.ชวลิต ดังนี้คือ

คุณภาพน้ำอันดับ 1 น้ำไหลแรง  ออกซิเจนเยอะ น้ำดีเยี่ยม ป่ายังสมบูรณ์เป็นลุ่มน้ำชั้น 1 ที่ห้วยปิวอเขตพุระกำนี้พบปลาดักแม่กลอง ปลาแขยงเขา ซึ่งบอกให้เห็นชัดว่าคุณภาพน้ำยังดีมาก ปลาที่อยู่ได้เฉพาะน้ำอันดับนี้จะ sensitive มาก ถ้าถูกรบกวน จะหมดไปก่อนปลาชนิดอื่น

ในลำห้วยปิวอ เราได้พบปลาดักแม่กลอง และปลาแขยงเขา เพราะต้นน้ำห้วยปิวอไม่มีพื้นที่เกษตร น้ำไหลแรงมีคุณภาพดีเยี่ยม

คุณภาพน้ำอันดับ 2  น้ำถูกคนรบกวนเล็กน้อย แต่ปลาหายากบางชนิดก็ยังอยู่ได้ เราจะพบปลาจำพวกปลาค้อ ปลาหัวตะกั่ว  ปลากด ปลาพลวง ปลาเวียน  ปลาตะเพียน ส่วนปลาดักแม่กลอง ปลาแขยงเขา จะไม่พบในคุณภาพน้ำระดับนี้

คุณภาพน้ำอันดับ 3 น้ำถูกคนรบกวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก็ยังมีปลาบางชนิดอยู่ได้ ดังเช่นปลาช่อน ปลาหมอ ปลากริม

คุณภาพน้ำอันดับ ๔ คุณภาพน้ำห่วยมาก น้ำเน่าก็ด้วย แต่ยังมีปลาบางชนิดอยู่ได้ ดังเช่นปลาซัคเกอร์ ปลานิล ปลาหางนกยูง หอยเชอรี่

ในเพจปั้นน้ำเป็นปลา  https://www.facebook.com/WaterAndFishes/  วันที่ 16 กันยายน 2563 ดร.ชวลิตกล่าวถึงการสำรวจปลาต้นน้ำภาชีไว้ว่า

160084177819

"การสำรวจครั้งนี้ พบปลาทั้งหมดราว 29 ชนิด ปู 2 ชนิด กุ้ง 1 ชนิด โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำที่ดีถึงดีเยี่ยมอย่างน้อย 15 ชนิด และที่เหลือเป็นกลุ่มที่อยู่ได้ในคุณภาพน้ำปานกลาง

กลุ่มที่บ่งชี้คุณภาพน้ำที่ดีถึงดีเยี่ยม แบ่งเป็นชนิดเฉพาะถิ่น (Endemic species) 11  ชนิด (ปลา 9 ชนิด และปู 2 ชนิด) และชนิดที่มีโอกาสเป็นชนิดเฉพาะถิ่น แต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน คือ ปลาค้ออีก 4 ชนิด

ชนิดเฉพาะถิ่นที่พบในการสำรวจครั้งนี้ คือ จาดแถบดำแม่กลอง (Poropuntius melanogrammus Roberts, 1998),  มูดสุรินทร์บินนาน (Garra surinbinnani  Page, Ray,Tongnunui, Boyd & Randall, 2019), ค้อทรายแม่กลอง (Paracanthocobitis cf. maekhlongensis Singer & Page, 2015),  ค้อแถบ (Schistura cf. sexcauda), ค้อแถบหัวหิน (Schistura cf. myrmekia),- ค้อแถบส้ม (Schistura aurantiaca longsesthee, Page, & Beamish, 2011),- แขยงเขาแม่กลอง (Batasio tigrinus Ng & Kottelat, 2001) , ดักแม่กลอง (Amblyceps variegatum Ng and Kottelat, 2000), บู่น้ำตกแม่กลอง (Rhinogobius cf. chiangmaiensis), ปูสวนผึ้ง (Demanietta suanphung), ปูป่าตะนาวศรี (Thaipusa cf. tennasserimensis)

ในกลุ่มนี้ มีปลาที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว แต่อาจพบใหม่ที่นี่ด้วย (Rediscovery species) คือค้อแถบหัวหิน (Schistura myrmekia) ที่พบครั้งแรกจากห้วยแก่งสก ในอำเภอหัวหิน เมื่อ พ.ศ. 2473 และเมื่อ Singe & Page ผู้บรรยายปลาชนิดนี้ กลับไปแหล่งเดิมเพื่อหาตัวอย่างเพิ่มใน พ.ศ. 2554 ก็พบว่าถิ่นอาศัยของมันสูญหายกลายเป็นสนามกอล์ฟ และพื้นที่เกษตรไปแล้ว” 

ป่าพุระกำต้นน้ำภาชี

สำหรับการสร้างฝายตามลำน้ำต่างๆ สภาพแวดล้อมจะปลี่ยน พื้นกรวดทรายจะเปลี่ยน เพราะถูกคนรบกวน แม้คุณภาพน้ำจะดี แต่ปลาอันดับ 1 จะอยู่ไม่ได้ ชนิดปลาจะเปลี่ยนไป

ป่าพุระกำต้นน้ำภาชี อย่างห้วยปิวอ และลำห้วยอื่นๆ จึงยังเป็นเขตพื้นที่ป่าลุ่มน้ำที่สมบูรณ์มากๆ ชนิดปลาที่พบ บอกถึงคุณภาพป่าได้อย่างดี

ที่ห้วยปิวอนี้ วันที่ดิฉันไปสำรวจปลา ยังได้พบปลาปักเป้าดำ ปกติปักเป้าดำเป็นปลามีพิษ แต่คนกะเหรี่ยงปกากะญอพุระกำเขาก็กินกัน กินได้ทั้งขี้ทั้งไส้ เอาต้มใส่พริก ใส่กะปิ ไม่ต้องเอาขี้ออกก็ไม่เมา น้องเปเล่บอกดิฉันว่าปลาปักเป้าลำภาชี กินไม่เมา 

160084157999

(ปลาปักเป้า)

ปลาปักเป้าที่อยู่น้ำไหลโกรกๆ คนกินได้ไม่เป็นพิษ แต่ถ้าเป็นพวกปักเป้าน้ำนิ่ง ตามอ่างเก็บน้ำ ชนิดนั้นน่ะพิษเยอะ กินแล้วเมา อันตรายมาก

น้องเปเล่ยังบอกดิฉันด้วยว่า ต้นน้ำภาชีเขตพุระกำนี้ ยังพบร่องรอยของสัตว์ป่าหายากสุดๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง นั้นคือสมเสร็จ หรือที่คนกะเหรี่ยงปกากะญอเรียกว่า “ต่ากว้อ” ซึ่งแปลว่า “ตัวลาย” เนื่องจากสมเสร็จตอนเด็กๆ อายุน้อยจะมีลักษณะลำตัวลายขาวดำเหมือนแตงไทย  โตขึ้นมาลายแตงไทยจะหายไป สีเนื้อตัวจะเป็นขาวกับดำ

 คนกะเหรี่ยงบ้านพุระกำถือว่าสมเสร็จเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เจ้าป่าเจ้าเขาเลี้ยงไว้ เนื่องด้วยเพราะมีลักษณะผสมของสัตว์ 3 ชนิดเข้าด้วยกัน คือ หมู ช้าง หมี จะอาศัยอยู่ในโป่งลึกต้นน้ำภาชี

ข้อมูลล่าสุดที่ดิฉันได้รับรู้มาก็คือ คนกะเหรี่ยงได้พบร่องรอยสมเสร็จมาตลอด และพบหลักฐานชัดเจนแล้วด้วยว่า มีสมเสร็จอยู่ในโป่งลึก ป่าพุระกำ ต้นน้ำภาชี ในบริเวณที่กำลังจะโดนเขมือบเอาไปสร้างเขื่อนเก็บน้ำนี้แหละ

ไปสำรวจลุ่มน้ำพุระกำ ต้นน้ำลำภาชีกับน้องกะเหรี่ยงครั้งนี้ ได้ดูปลาเห็นป่า ได้พบกับน้องเปเล่ กัวพู่,น้องดา ดูแป๊ะ, น้องบูม กงจก, กับน้อง-พี่กะเหรี่ยงหลายๆคน ผู้ล้วนเป็นลูกหลานเชื้อสายทหารกะเหรี่ยงที่ร่วมกู้ชาติไทย มากับกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และยังเป็นกำลังหลัก ช่วยลาดตระเวนสอดแนมดูแลชายแดนไทยต่อเนื่องมาอีกหลายร้อยปี ในกองทหารเสือป่าแมวเซา กองอาทมาต ตลอดยุคอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 

ดังมีหลักฐานปรากฏด้วยว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงประกาศไว้ "พระองค์ก็ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกกะเหรี่ยงด้วย"

ไปสำรวจป่าต้นน้ำภาชี ไปดูบ้านเรือนเชื้อสายทหารกะเหรี่ยงชายไทยในเขตพุระกำครั้งนี้ ได้ดูปลาเห็นป่า และได้ดูป่าเห็นคน เห็นรากเหง้าของแผ่นดิน ผู้คน ประวัติศาสตร์ เลยได้นำมาบอกเล่ากันไว้ เป็นฐานองค์ความรู้ ไว้ช่วยกันดูแลไม่ให้ต้นน้ำภาชีที่สมบูรณ์ยิ่ง อุดมด้วยส่ำสัตว์ปลาหายาก สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์อย่างสมเสร็จ กำลังจะถูกทำลายด้วยการยึดพื้นที่ไปสร้างเขื่อน จากการผลักดันของข้าราชการไทยร่วมจับมือกับนายทุน ใช้นโยบายรัฐที่มีวาระซ่อนเร้น

ที่จากนี้ไป ขบวนการประชาชนจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหานี้อย่างรอบคอบด้วยสติปัญญาและการเรียนรู้ร่วมกัน  จากคนทุกฝ่าย

ศึกครั้งนี้ยังยาวไกล......

   ...................

ตามอ่านเรื่องราวป่าต้นน้ำพุระกำ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ตอน 1-2 ได้ที่

ตอน 1 ชะตากรรม'กะเหรี่ยงพุระกำ' ถูกรุกพื้นที่ เพื่อสร้างเขื่อน

ตอน 2 สำรวจพันธุ์ปลาปูป่าต้นน้ำ บ้านกะเหรี่ยง'พุระกำ' ความหลากหลายที่กำลังจะหายไป