'รัฐบาล-ฝ่ายค้าน' เห็นพ้องต้องแก้ รธน. มาตรา 256 ไม่แตะหมวด 1-2

'รัฐบาล-ฝ่ายค้าน' เห็นพ้องต้องแก้ รธน. มาตรา 256 ไม่แตะหมวด 1-2

รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เห็นพ้องต้องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2 หวั่นขยายความขัดแย้ง “สมพงษ์” ย้ำต้องยกเลิก ส.ว. โหวตนายกฯ-ยกเลิกคำสั่ง คสช.

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 63 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน และ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 หรือตั้ง สสร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และ หมวด 2 เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องมีเสียง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง และเสียง ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 อีกทั้งในวาระที่ 3 ยังต้องมี ส.ส. จากฝ่ายค้านเห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% รวมทั้งต้องมีการออกเสียงประชามติ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนไม่อาจแก้ไขได้และไม่ทันต่อสถานการณ์ของประเทศ จึงเห็นควรให้กลับไปชี้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา รวมถึงเสียงเรียกร้องประชาชนที่ชี้ว่ารัฐธรรมนูญควรแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย จึงควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนหลักการร่างแก้ไขยกเลิกมาตรา 270 ถึง 272 นายสมพงษ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เป็นหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีสิทธิร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่สอดคล้องกับหลักการและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่ควรให้ ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป จึงเห็นควรยกเลิกมาตรา 272 และแก้ไขมาตรา 159 ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.

นายสมพงษ์ ยังชี้แจงหลักการและเหตุผลให้ยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับการประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช.และหัวหน้า คสช. ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ คสช. สิ้นสุดไปแล้ว แต่ยังคงบทบัญญัติไว้ ทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิก

ส่วนหลักการและเหตุผลการแก้ไขระบบเลือกตั้ง นายสมพงษ์ กล่าวว่า การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาหลายด้าน ยุ่งยากในทางปฏิบัติ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน ไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมือง การคิดคำนวณไม่แน่นอนชัดเจน สมควรนำวิธีการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กลับมาใช้ ซึ่งเคยใช้มาหลายครั้ง ประชาชนเข้าใจ ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล อภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 โดยกล่าวว่าสภาพปัญหาในบ้านเมืองปัจจุบันทำให้เป็นอุปสรรค์ในการพัฒนาของบ้านเมือง และเพื่อการแก้ไขความขัดแย้งในประเทศ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่คิดว่าดีที่สุด แต่ก็ยังมีส่วนที่ยังมีข้อบกพร่อง ปี 2550 ก็ยังมีข้อบกพร่อง และปี 2560 หลายพรรคการเมืองหาเสียงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้พรรคพลังประชารัฐจะไม่มีนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคร่วมมีนโยบายนี้ และจากการใช้รัฐธรรมนูญมา 2 ปี มีหลายกลุ่มออกมาเดินขบวนและชุมนุมล้วนเกิดมาจากความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีกลุ่มไทยภักดีที่จะมีการขยายตัวในอนาคต ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ด้วย พรรคจึงเห็นว่าแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหา และเลี่ยงส่วนที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งคือหมวด 1 และ 2