ยกใหม่ทีวีดิจิทัล ฮึดสู้พายุดิสรัปชั่น

ยกใหม่ทีวีดิจิทัล ฮึดสู้พายุดิสรัปชั่น

ใกล้ครึ่งทางของการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ “ทีวีดิจิทัล” ที่บรรดาเศรษฐีตบเท้าเข้าประมูลเป็นเจ้าของช่อง จ่ายเงินให้กับรัฐมากกว่า 50,000 ล้านบาท

เกิดช่องทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจรวม 24 ช่อง หน้าเก่ายึดช่องเดิม และหน้าใหม่เข้ามาแบ่งเค้กเงินโฆษณาหลัก “แสนล้านบาท” ซึ่ง 4 ช่องหลัก ได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 และช่อง 5 ครองอยู่

เกมเปลี่ยนหลัง คู่แข่งเข้ามาเพิ่ม ทุนเล็กใหญ่วาดฝันชิงเงินแสนล้านเข้ากระเป๋า กลับไม่เป็นไปดังคาด เพราะระหว่างทาง เกิดสึนามิลูกใหญ่ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ซัดธุรกิจหลายด้าน ทั้งชิงคนดูจากจอแก้วไปสู่อุปกรณ์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต เม็ดเงินโฆษณาที่อยู่กับเจ้าของช่อง ต้องไหลไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ จนปัจจุบัน เงินโฆษณาราว แสนล้านบาททีวีครองได้ราว 60,000 ล้านบาท ส่วนสื่อออนไลน์กวาดเฉียด 20,000 ล้านบาท

ตลอดระยะเวลา 6 ปีของการเกิดทีวีดิจิทัล คำว่า ขาดทุน-กลืนเลือด เป็นภาพสะท้อนธุรกิจอย่างดี “กำไร” ที่อยากเห็นกลับเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม ซ้ำร้ายยังแบกภาระต้นทุนมหาศาล กระทั่งปผู้ประกอบการทนไม่ไหวต้องเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ช่วยเหลือในห้วงที่รัฐบาลคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)บริหารประเทศจึงใช้มาตร 44 เปิดทางให้คืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล(ไลเซ่นส์)พร้อมได้รับ “เงินชดเชย” โดยมี 7 ช่อง ลาจอ ส่วน 15 ช่องธุรกิจที่เหลือ อาการเป็นอย่างไร ปรับตัวแบบไหนจึงจะยืนระยะได้

เขมทัตต์ พลเดช อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่สุดแล้วจำนวนช่องทีวีดิจิทัลที่เหมาะสมควรมี 11 ช่อง เพราะเม็ดเงินโฆษณาแสนล้านที่อ้างอิงกันมาโดยตลอด เป็นเพียงราคาที่ยังไม่ได้หักส่วนลดออกไป ประกอบกับการพิจารณาเทรนด์ธุรกิจทีวีในอนาคต จะเปลี่ยนแปลงอีก จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน ช่องข่าวอาจตกยุคได้ เช่นเดียวกับในอดีตปี 2550 ช่วงทีวีดาวเทียมบูม มีช่องข่าวเกิดจำนวนมาก และฐานผู้ชมที่อิงการเมือง นิยมดูรายการต่างๆ ทำให้เงินโฆษณาเข้าจำนวนมาก

นอกจากนี้ เดิมธุรกิจทีวีดิจิทัลคือการผลิตคอนเทนท์ป้อนคนดู มีเงินทุนสะสม แต่เมื่อต้องนำเงินไปประมูลแพลตฟอร์มหรือช่องทีวีดิจิทัลด้วยเงินมหาศาล ซึ่งสิ้นเปลืองอย่างมาก รวมถึงมีต้นทุนการจ้างพนักงานที่ค่าตัวปรับสูงขึ้นหรือเฟ้อถึง 100-200% และต้นทุนจากเดิมแค่ทำสถานีโทรทัศน์ รับผิดชอบผลิตรายการออกาอากาศ(ออนแอร์)บางชั่วโมง ปัจจุบันต้องผลิตรายการออนแอร์ 24 ชั่วโมง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การดำเนินกิจการต่อค่อนข้างลำบาก

ส่วน 8-9 ปีที่เหลือของระยะเวลาใบอนุญาต หากจะยืนหยัดอยู่ได้ ผู้ประกอบการต้องหารายได้จากแหล่งใหม่หล่อเลี้ยงธุรกิจ เช่น ขายสินค้า ขยายคอนเทนท์สู่ดิจิทัล ขายคอนเทนท์บุกตลาดต่างประเทศซึ่งต้องพิจารณาตลาดตอบรับคอนเทนท์ไทยมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น

“การฟื้นธุรกิจสื่อดั้งเดิมตอนนี้ต้องหารายได้จากแหล่งใหม่ เม็ดเลือดใหม่เติมเม็ดเลือดเดิม เพราะปัจจุบัน 15 ช่องที่เหลือ ขาดทุนอยู่ 10 ช่อง ส่วนช่องที่มีกำไรเกิดจากการมูฟจากมีเดีย ไปสู่คอมเมิร์ซ กับช่องที่ทุนแข็งแรง”

โดยอสมท แผนธุรกิจที่อดีตแม่ทัพวางไว้ก่อนเกษียณ คือปูทาง 2 ปี สู่ดิจิทัล ปรับโครงสร้างองค์กร ตั้งสำนักธุรกิจดิจิทัล และสำนักบริหารดิจิทัล แยกกันทำงานด้านบริหารคอนเทนท์ สร้างสรรค์แพลตฟอร์มใหม่ เป็นต้น ซึ่งล่าสุดได้มีการผุด 11 แพลตฟอร์ม ลุยดิจิทัล ทั้งแอ๊พพลิเคชั่นแรงใจ เป็นตัวกลางการหางาน, Shopmania ขายสินค้า เป็นต้น

160083601090

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจทีวีดิจิทัลแม้ค่อนข้างหดหู่ แต่ส่วนตัวไม่มองเช่นนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาทีวีดิจิทัลเผชิญการถูกดิสรัปมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนช่องเพพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความพร้อมของกสทช.ในการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ดิจิทัล การให้รับชมทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งเมื่อธุรกิจออกสตาร์ทจริงหลายอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นได้ กลายเป็นปัญหากระทบการธุรกิจ

ทั้งนี้ การปรับตัวของแกรมมี่ ฯ คือการมุ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อหาหรือคอนเทนท์โปรวายเดอร์ ป้อนคนดู รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์(โอทีที)ต่างๆ และขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์เจาะตลาดต่างประเทศ

“ทีวีดิจิทัลคืนทุนช้าหน่อย และเมื่อธุรกิจถูกดิสรัป เราสามารถขยายสู่ออนไลน์ ไปต่างประเทศ พัฒนาศิลปิน ขายสินค้า ต้องหาทางออกในการสร้างรายได้จากหลายช่องทางนอกเหนือจากทีวี แต่มีทีวีดิจิทัลเป็นจุดเริ่มต้นของทุกส่วน”

ส่วน 9 ปีที่เหลือของระยะเวลาใบอนุญาต บริษัทจะนำช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และช่องวัน 31 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ต่อไป

 นงลักษณ์ งามโรจน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ช่อง 8 มุ่งต่อยอดกลยุทธ์เอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ คือสร้างสรรค์รายการและนำไปสู่การขายสินค้าได้ด้วย ทั้งนี้ กลยุทธ์เก้าอี้ 4 ขา สร้างการเติบโต ได้แก่ 1.นำเสนอรายการให้ได้รับความนิยมหรือเรทติ้งเพื่อดึงรายได้โฆษณา สัดส่วน 40% 2.เดินหน้าจัดอีเวนท์ไตรมาส 4 สร้างรายได้ราว 10% หลังจากที่ผ่านมางดเพราะผลกระทบโควิด-19 3. การขายลิขสิทธิ์รายการต่างๆ 15% และ4.การนำเสนอรายการใหม่ๆ สานเป้าหมายเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ สร้างการมีส่วนร่วม(เอ็นเกจเมนต์)แปลงผู้ชมเป็นผู้ซื้อสินค้า ทำรายได้ 35%

ส่วนกลยุทธ์การทำตลาดยังคงชูจุดแข็งด้านคอนเทนท์เน้นหนังดี ซีรี่ส์ดังจากต่างประเทศ ขยายออนไลน์(OTT)ผ่านโมโนแม็กซ์ เป็นต้น

ด้านช่อง 3 หลังมีแม่ทัพใหม่ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์” ยังคงเดินหน้าอัดรายการข่าว ละคร วาไรตี้ ตรึงคนดูทุกช่วงเวลา

 นอกจากนี้ ยังปรับแม่ทัพฝ่ายข่าว มุ่งยกระดับข่าวเทียบ CNN เสิร์ฟคอนเทนท์เจาะดิจิทัล ทุกแพลตฟอร์ม บุกขายคอนเทนท์เสิร์ฟตลาดต่างประเทศ เช่น จีน ผนึกเทนเซ็นต์ ป้อนละครทั้งระบบออกอากาศคู่ขนาน(Simulcast) เป็นต้น