คน ช้าง ป่า : ปัญหาที่ยังไร้ทางออก

คน ช้าง ป่า : ปัญหาที่ยังไร้ทางออก

อีกบทวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่ายังมีแนวโน้มขยายตัว ทั้งปัญหาพื้นที่ ความรุนแรง และความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เคยกล่าวไว้ถึงความสัมพันธ์ของคนช้างป่าที่เปลี่ยนไปเมื่อโลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน พฤติกรรมการใช้ป่าการจัดการป่าและการเกษตรเปลี่ยน ป่าเปลี่ยนไปจนช้างอยู่ไม่ได้ต้องออกมาอยู่ชายขอบหรือนอกป่า ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า จึงเข้มข้นรุนแรงขึ้น

ช่วงเริ่มแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นช่วงการปฏิวัติเขียว ป่าเปลี่ยนไปเป็นที่เกษตรกรรมปีละกว่า 2 ล้านไร่ การพัฒนาประเทศที่เริ่มจากตัดไม้ขายทรัพยากร ไม่อาจช่วยให้ราษฎรมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ ยิ่งเน้นเพิ่มผลผลิตด้วยการขยายพื้นที่ในเขตป่า แม้ผลผลิตและรายได้เพิ่มแต่ไม่ยั่งยืน เกษตรกรยังคงวนเวียนอยู่ในวงจรความยากจน เป็นหนี้สิน สูญเสียที่ดิน ต้องดิ้นรนหาที่ดินทำกินในเขตป่าเรื่อยไป

การจัดการป่าเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อสัตว์ป่า

ช้างป่าก็ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ไม่ต่างจากคน เมื่อป่าใหญ่ช้างก็อยู่ในป่า เมื่อป่าเล็กลง ซ้ำยังตัดเส้นทางมากมายในป่า ยังมุ่งจัดการป่าเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อสัตว์ป่า พื้นที่โล่งและทุ่งหญ้าก็หมดไป ช้างต้องออกมาหากินชายป่า เมื่อต้องเดินข้ามถนนหรือทางรถไฟก็มักถูกรถชนตาย

พบรายงานความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ารุนแรงครั้งแรกๆ เกิดในปี 2530 ที่ป่าสลักพระ และป่าเขาชะเมา-เขาวง อีก 15 ปีต่อมาพื้นที่ขัดแย้งเพิ่มขึ้นเป็น 20 พื้นที่ และที่รุนแรงจนมีคนตาย 3 แห่ง ที่ป่าสลักพระและป่าห้วยขาแข้ง คนตายเป็นชาวบ้านเก็บหาของป่า ส่วนที่ป่าเขาอ่างฤาไนช้างออกนอกพื้นที่เหยียบชาวบ้านตาย (Srikachang, 2003)

ในปี 2545 มีงานวิจัยช้างที่ป่าเขาอ่างฤาไน พบว่า มีช้าง 136 ตัว อัตราเพิ่มปีละ 9.83% ( 10.57% ตาย 0.74%) จะถึงจุดอิ่มตัวราว 139 ตัวในปี 2547 หรือมีได้สูงสุดไม่เกิน 166 ตัว โดยคิดเผื่อไว้อีก 20% (ไสว และคณะ, 2547) ข้อมูลนี้ชี้ว่า ความสามารถของป่าที่จะรองรับช้างป่าเต็มศักยภาพมาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว

แม้เป็นที่รับรู้กันว่า ช้างหนาแน่นมากแถบป่าเขาอ่างฤาไน แต่ไม่มีการจัดการอะไร ช่วงเดือน กรกฎาคม 2548 ช้างป่าเพศผู้ 3 ตัวซึ่งแตกฝูงมาขึ้นไปทางแก่งหางแมว ทำร้ายชาวบ้านตาย 1 คน บาดเจ็บ 1 คน ต่อมาช้างตัวนั้นก็ถูกยิงตาย อีก 2 ตัวก็เดินทางไปทั่วเพื่อหาพื้นที่ของตัวเอง

ข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติฯ ช่วงปี 2559 - 2560 ยืนยันรายงานช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ 6,213 ครั้ง ส่งผลกระทบทำให้ทรัพย์สินเสียหายแก่ชาวบ้าน 228 ราย พืชผลเสียหาย 2,355 ราย ส่วนช้างป่าก็ตายไปไม่น้อย

ปี 2555 – 2561 จากรายงาน 107 กรณีปัญหายังพบว่ามีช้างตาย 25 ตัว บาดเจ็บ 7 ตัว สาเหตุการตายหลักของช้างป่าเกิดจากรั้วไฟฟ้าถึงร้อยละ 72 และได้รับบาดเจ็บจากรถชนขณะข้ามถนนร้อยละ 57 ขณะที่มีจำนวนผู้เสียชีวิต 45 คน บาดเจ็บ 30 คน แต่ปัจจุบันรั้วไฟฟ้าก็ยังเป็นกิจกรรมสำคัญของหน่วยงานจัดการสัตว์ป่า

พื้นที่ขัดแย้งคนกับช้างป่า

ภาพรวมจำนวนช้างป่าในปัจจุบัน ข้อมูลของกรมอุทยานฯ ข้อมูลปี 2561 มีประมาณ 3000-3500 ตัว ในพื้นที่ป่า 69 แห่ง หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 189 แห่ง ครอบคลุมเนื้อที่ราว 51.32 ตร.กม. พื้นที่ขัดแย้งคนกับช้างป่าเพิ่มจาก 20 พื้นที่ในปี 2546 เป็น 41 พื้นที่ในปี 2562 และในปีนี้มีเหตุการณ์รุนแรงที่คนช้างป่าบาดเจ็บหรือเสียชีวิตถึง 30 เหตุการณ์ โดยเกิดที่กลุ่มป่าตะวันออกแห่งเดียวถึง 18 เหตุการณ์

งานวิจัย สกว. ยังได้ระบุอีกว่า ปั ญหาคนกับช้างมีอยู่ในพื้นที่ 13 กลุ่มป่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 2 ป่า กลุ่มป่าที่มีความขัดแย้งรุนแรงบ่อยครั้งสุด 5 แห่งแรก คือ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว (พิเชฐและคณะ, 2561)

พื้นที่ขัดแย้งคนกับช้างป่ามากที่สุดในปัจจุบันอยู่ที่ป่าเขาอ่างฤาไน และป่าเขาชะเมา-เขาวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าตะวันออก ป่าแห่งนี้เคยมีพื้นที่ถึง 5 ล้านไร่ เป็นผืนใหญ่ติดต่อกับเขตแดนประเทศกัมพูชา ปัจจุบันเหลือพื้นที่ราว 2.2 ล้านไร่ และส่วนที่แหว่งหายไปมากที่สุดก็แถบป่าเขาอ่างฤาไนและป่าเชาชะเมา-เขาวง

ป่าเขาอ่างฤาไนเป็นกรณีที่น่าสนใจ เพราะเป็นป่าลุ่มต่ำที่อุดมสมบูรณ์และมีช้างอยู่ถึงประมาณ 270 ตัว หรือราวครึ่งหนึ่งของช้างป่าตะวันออกทั้งหมด ช้างป่าอยู่กันหนาแน่นใน 3 โซน โซนแรกเขตตำบลท่ากระดาน อ.สนามไชยเขตในราว 80 ตัว โซนสองตำบลคลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบซึ่งมีมากที่สุดอีกราว 120 ตัว โดยอยู่ตำบลคลองตะเกราราว 40 ตัว และตำบลท่าตะเกียบอีกราว 80 ตัว และโซนสามที่ตำบลลาดกระทิง ตำบลมะขาม อ.แปลงยาว อีกราว 30 ตัว (ทนงศักดิ์ จันทร์ทอง สัมภาษณ์ 17 ก.ย. 2563) ช้างป่าที่เดินข้ามถนนเป็นฝูงจนเป็นข่าวใหญ่ก็ที่นี่ละครับ

ช้างป่าเขาอ่างฤาไนออกมาอยู่ชายป่าและนอกป่าแทบทั้งหมด เพราะกลางป่าอ่างฤาไนแน่นทึบไปด้วยต้นไม้ที่เกิดจากโครงการปลูกป่าจนขาดแคลนพืชอาหารและทุ่งหญ้า ส่วนรอบป่าเป็นสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไร่อ้อย สัปปะรด มันสำปะหลัง ช้างพังท้องมักจับกลุ่มสองสามตัวมาออกลูกชายป่าหรือนอกป่า แล้วก็มักหากินอยู่แถวนั้น โดยไม่พาลูกกลับเข้าป่าอีก ความขัดแย้งรุนแรงชองคนกับข้างในพื้นที่รอบป่าเขาอ่างฤาไน จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ความรุนแรงที่มีต่อช้าง

เมื่อคนกับช้างเจอกันในไร่ แรกๆ ก็หลีกกัน ปล่อยให้กิน ต่อมาก็ไล่ นานไปก็มักใช้ความรุนแรงจนถึงกับชีวิต แต่ช้างตายมากกว่าคน ตายแล้วก็ถูกฝังกลบไปใต้พื้นดินไม่มีข่าวสารรายงานให้สังคมรับรู้ ดูเหมือนไม่มีปัญหา

เมื่อคนเปลี่ยน การพัฒนาป่าไม้และการเกษตรเปลี่ยน ป่าและทรัพยากรในป่าก็เปลี่ยนไปจนช้างอยู่ในป่าไม่ได้ก็ต้องออกมาอยู่ชายป่า หรือนอกเขตป่าทั้งที่รู้ว่ามีอันตราย การที่ช้างออกมาอยู่ชายป่าหรือนอกป่า จนมีปัญหาจึงมีเหตุปัจจัยรากเหง้าของปัญหาจากคน

การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ายังใช้ความรุนแรง ไร้ทางออกที่คนและช้างอยู่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันหรือต่างฝ่ายต่างอยู่ก็ตาม สภาพปัจจุบันใครคิดอะไรได้มีเครื่องมืออะไรก็นำมาใช้แก้ปัญหากันไปตามเหตุการณ์ ไม่ได้แก้ที่เหตุปัจจัยของปัญหา ปัญหาจึงยืดเยื้อไม่รู้จบ

เชื่อว่าปัญหาขัดแย้งคนกับช้างป่าในภาพรวมมีแนวโน้มจะขยายตัวทั้งพื้นที่ ความรุนแรง และความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

พระราชดำรัส รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 “...ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้อาหารช้างนั้นเพียงพอ การปฏิบัติคือให้ไปสร้างอาหารในป่า เป็นแปลงเล็กๆ กระจาย ส่วนกรณีช้างออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า...” ช่วยชี้แนวทางแก้ปัญหาช้างออกกนอกป่ามานานกว่าสองทศวรรษแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดผล

ปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่าจะมีทางออกอย่างไร ก็ต้องช่วยกันคิดช่วยกันคุยช่วยกันทำต่อไป