บสย.ยันหนี้เสียเอสเอ็มอีพุ่งไม่เกิน9%

บสย.ยันหนี้เสียเอสเอ็มอีพุ่งไม่เกิน9%

บสย.ประเมินกรณีเลวร้ายที่สุดระดับหนี้เสียเอสเอ็มอีปีนี้จะขยับสูงสุดไม่เกิน 9% ชี้หากธปท.ขยายเวลาพักชำระหนี้ และบสย.เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อ หนี้เสียเอสเอ็มอีจะกลับไปอยู่ที่ 5.6% เท่ากับสิ้นปี 2562

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมชนาดย่อม(บสย.)ประเมินสถานการณ์หนี้เสียเอสเอ็มอีว่า กรณีเลวร้ายสุด คือ กรณีที่ยังไม่มีบสย.เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อและไม่มีการขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่จะหมดภายในสิ้นก.ย.นี้ ระดับหนี้เสียในระบบปีนี้จะอยู่ในระดับไม่เกิน 8-9% แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายธนาคารได้ประกาศขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ ณ มิ.ย.ที่ผ่านมานี้ หนี้เสียของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 6.5% จากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ 5.6% เป็นผลมาจากมาตรการของรัฐในการเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อและมาตรการพักชำระหนี้ ขณะที่ ก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์กันว่า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ จะทำให้หนี้เสียของเอสเอ็มอีอาจจะขยับไปเป็นเลขสองหลักหรือกว่า 10%

สำหรับบทบาทของบสย.นั้น เขากล่าวว่า บสย.จะทำหน้าที่เสมือนทำนบกันน้ำ หรือหนี้เสียไม่ให้ไหลบ่าท่วมเมือง โดยหนี้ที่จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษหรือSM ของเอสเอ็มอีที่มีอยู่ 7.2 แสนล้านบาท และหนี้เสียของเอสเอ็มอีจำนวน 3.4 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.06 ล้านล้านบาท ซึ่งบสย.ได้ช่วยดูดซับหนี้เสียของ เอสเอ็มอีออกมา โดยการเข้าไปช่วยค้ำประกันแล้ว 5 หมื่นล้านบาท และดูด SM ออกมาได้อีก 2.5 แสนล้านบาท รวมเป็น 3 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ บสย.ดูดหนี้เสียและ SM ออกมาแล้ว 30 % ของ 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หากรัฐบาลอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ที่กำหนดวงเงินค้ำประกันไว้ 2 แสนล้านบาท จะทำให้ บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีได้อีก 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้เสียของเอสเอ็มอีกลับไปอยู่เท่ากับเดือนธ.ค.2562

“หากรัฐบาลอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 อีก 2 แสนล้านบาท ทำให้ เราสามารถชะลอหนี้เสีย บวกกับถ้ามีการขยายเวลาการพักชำระหนี้ก็จะช่วยไม่ให้หนี้เสียไหลลงมาอีก ทำให้ตัวเลขหนี้เสียของเอสเอ็มอีในสิ้นปีนี้ จะอยู่ที่ 5.6 %เท่ากับสิ้นปีที่แล้ว”

เขากล่าวด้วยว่า ระดับหนี้เสียของเอสเอ็มอีในปัจจุบันที่อยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างของเอสเอ็มอี 6 ล้านล้านบาท ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่เลวร้าย เชื่อว่า หากจะขึ้นไปมากสุดก็ไม่น่าจะเกิน 4 แสนล้านบาท

ขณะที่ ตัวเลข SM ของเอสเอ็มอี 7 แสนกว่าล้านบาทนั้น อาจจะไหลลงมาเป็น หนี้เสีย 20-30% ของยอด SM หากไม่มีโครงการพักชำระหนี้และการค้ำประกันของบสย. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มหนี้เสียในระบบอีก 1.4 แสนล้านบาท ถึง 2.1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บสย.จะไม่ยอมให้SM ไหลลงมาเป็นหนี้เสียเพิ่มเติมอีก โดยจะต้องเข้าไปช่วยค้ำประกัน เพื่อรอเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีสัญญาที่ดีขึ้นแล้ว เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ซึ่งน่าจะทำให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากจีนมีมากขึ้น

ทั้งนี้ บสย.ยังมีวงเงินค้ำประกันที่สามารถทำได้ในปีนี้อีก 9.55 หมื่นล้านบาท สามารถค้ำประกันสินเชื่อได้ 1.5 แสนล้านบาท ซี่งยังไม่รวม PGS9 ที่มีวงเงินอีก 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเพียงพอที่จะเป็นทำนบกันไม่ให้ SM ไหลลงมาเป็นหนี้เสีย