เจาะพฤติกรรมลงทุน ‘กองทุนรวม’  บทบาทผู้ลงทุนบุคคล(1) 

เจาะพฤติกรรมลงทุน ‘กองทุนรวม’  บทบาทผู้ลงทุนบุคคล(1) 

การตัดสินใจออมหรือลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย

 ดังนั้น การเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้ลงทุนจึงเป็นกุญแจหลักที่จะไขไปสู่แนวทางในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นแนวทางในการขยายฐานผู้ลงทุนในอนาคต ซึ่งเป็นนโยบายที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญอย่างมาก

ฝ่ายวิจัย ก.ล.ต. ริเริ่มทำการศึกษาพฤติกรรมการลงทุนผ่านกองทุนรวมโดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) ของการถือครองหน่วยลงทุนในกองทุนรวมของผู้ลงทุนบุคคล ในช่วง พ.ศ. 2556 – 2562 ที่มีการจำแนกลักษณะของผู้ลงทุนในด้าน อายุ เพศ ถิ่นที่อยู่ รวมทั้งนโยบายการลงทุน โดยการศึกษานี้ แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.บทบาทของผู้ลงทุนบุคคลในกองทุนรวม (Profile) 2.การเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมของผู้ลงทุนบุคคล (Access) และ 3.พฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนบุคคล (Behavior)

ในบทความตอนแรกนี้ เป็นการนำเสนอบทบาทของผู้ลงทุนบุคคลในกองทุนรวมเพื่อตอบคำถามให้ทราบว่า ผู้ลงทุนบุคคลมาจาก Generation ใดบ้าง และแนวโน้มการเติบโตของผู้ลงทุนในแต่ละ Generation เป็นอย่างไร บทบาทภาพรวมของผู้ลงทุนในกองทุนรวม (Profile) จากการใช้ข้อมูล Big Data สามารถแบ่งผู้ลงทุนได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. ผู้ลงทุนบุคคล และ 2. ผู้ลงทุนนิติบุคคล โดยผลการวิจัยสรุปได้ว่า ในปี 2562 มีจำนวนผู้ลงทุนบุคคลในกองทุนรวมเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นประมาณ 1.48 ล้านคน จากปี 2561 ที่มีผู้ลงทุนบุคคลอยู่ 1.42 ล้านคน โดย 58% เป็นเพศหญิง และ 65% เป็นผู้ลงทุนจากกรุงเทพและปริมณฑล ในส่วนของมูลค่าพบว่า ผู้ลงทุนบุคคลถือครองอยู่ 75% ของมูลค่ากองทุนทั้งหมด อีก 25% ที่เหลือคือถือโดยนิติบุคคล จึงเห็นได้ว่าผู้ลงทุนบุคคลเป็นผู้ลงทุนที่สำคัญในตลาดกองทุนรวม

160080346765

ในการศึกษานี้ได้แบ่งผู้ลงทุนบุคคลตามรุ่นอายุ (Generation) เพื่อศึกษาบทบาทของแต่ละรุ่น จากผู้ลงทุนจำนวน 1.48 ล้านคนนี้ เมื่อทำการศึกษาเจาะลึกลงไป พบว่า ในด้านของจำนวนผู้ลงทุนนั้น Generation X มีจำนวนผู้ลงทุนในกองทุนรวมมากที่สุด คือ 42% ของจำนวนผู้ลงทุนในกองทุนรวมทั้งหมด รองลงมาคือ Baby Boomer สัดส่วน 29% จึงเห็นได้ว่า กลุ่มผู้ลงทุนทั้งสองรุ่นนี้มีบทบาทอย่างมากในแง่ของจำนวน

160080353291

อย่างไรก็ตาม พบว่าทั้งสองรุ่นดังกล่าวกลับมีสัดส่วนผู้ลงทุนลดลงทุกปี ในขณะที่กลุ่ม Generation Y เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตของจำนวนผู้ลงทุนทุกปี จากสัดส่วน 9% ในปี 2556 ขึ้นมาเป็น 23% ในปี 2562 ส่วนด้านมูลค่าการลงทุนพบว่า ครึ่งหนึ่งเป็นของกลุ่ม Baby Boomer ชี้ให้เห็นว่าแม้ Generation X และ Generation Y จะมีจำนวนที่มาก แต่ยังมีมูลค่าการลงทุนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับ Baby Boomer แต่ก็พบว่า Baby Boomer มีมูลค่าเงินลงทุนในสัดส่วนลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เข้าสู่วัยเกษียณและมีการทยอยนำเงินออกจากกองทุนรวม ขณะที่ Generation X และ Generation Y มีมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี

1600803637100

จากผลการศึกษา มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าผู้ลงทุนจำนวนมากอย่าง Generation X และ Generation Y เป็นอนาคตที่สำคัญของตลาดทุนที่จะมีการสะสมเงินลงทุนที่มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Generation Y ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสมกับรุ่นอายุของผู้ลงทุน เพื่อให้ดึงผู้ลงทุนรุ่นใหม่เข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้นขณะเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การขบคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์การลงทุนสำหรับกลุ่มผู้เกษียณอายุ (post-retirement product) สำหรับผู้ลงทุนที่เข้าสู่วัยเกษียณอย่าง Baby Boomer และ Post War ซึ่งมีจำนวนและมูลค่าเงินลงทุนที่ลดลง ให้สามารถทยอยนำเงินออกไปใช้ได้และยังมีการคงเงินลงทุนบางส่วนต่อไป

 หมายเหตุ:ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์