เพราะโลกมีความหลากหลาย (ทางเพศ)

เพราะโลกมีความหลากหลาย (ทางเพศ)

ความแตกต่างทำให้โลกมีสีสัน และ ความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ทำให้เรารู้ว่าโลกไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ ซ้ายหรือขวา สิ่งที่สำคัญ คือ การเคารพตัวเอง เคารพคนอื่น และยอมรับความแตกต่าง (ที่ไม่มีสิ้นสุด) ด้วยการเปิดใจ และปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ปัจจัยเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ ได้สร้างผลกระทบทำให้บุคคลหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQN+ เข้าไม่ถึงการดูแลด้านสุขภาวะ รวมทั้งฐานความคิดที่ต่อต้านการรักเพศเดียวกัน (Homophobia) คนข้ามเพศ (Transphobia) ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตใจ ร่างกาย และการอยู่ร่วมกันในสังคม

นอกจากบุคคลหลากหลายทางเพศ ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพหลายประการ และมีความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพ อันเนื่องมาจากการถูกเลือกปฏิบัติและการตีตรา จนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ที่สำคัญก็คือในการวางนโยบายและกลยุทธ์ด้านสุขภาพและสุขภาวะของประชากรในประเทศไทยยังคงใช้เลนส์แบบรักต่างเพศในการกำกับนโยบายและการปฏิบัติงาน ขาดมุมมองในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ เป็นการตั้งกลุ่มเป้าหมายการทำงานโดยไม่คำนึงถึงคุณลักษณะเฉพาะของอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ เพศวิถี และวิถีทางเพศที่มีความ เฉพาะของบุคคล

วานนี้ (22 กันยายน) ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สมาคมเพศวิถีศึกษา จัดงานเสวนาและรับฟังความคิดเห็น “ยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกของประเทศไทย” ระดมนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดทำ ร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ปี2564-2566 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมด้านสุขภาวะของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเข้มข้น ตั้งเป้าให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมีสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ดีควบคู่กับการได้รับสิทธิในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ สร้างความตระหนักรู้ให้คนในสังคมเป็นพื้นที่ปลอดภัย พัฒนาระบบเครือข่ายการทำงาน ชุมชน เยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อสุขภาวะของประชากร LGBTIQN+

160079991676

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทนผู้วิจัย กล่าวว่า (ร่าง) ยุทธศาสตร์ ดังกล่าว ระบุ บุคคลหลากหลายทางเพศ หรือตัวย่อ LGBTIQN+ เพื่อต้องการให้มีความหมายครอบคลุมถึงบุคคลทุกกลุ่ม โดยความหมายของอักษรแต่ละตัว ได้แก่  Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย) Bisexual (บุคคลรักได้ทั้งสองเพศ) Transgender (บุคคลข้ามเพศ) Intersex (บุคคลที่มีเพศกำกวม) Queer (บุคคลที่ปฏิเสธการนิยามตนเองด้วยอัตลักษณ์ทางเพศทุกรูปแบบ) Non-Binary (นอน ไบนารี่ หรือบุคคลที่ปฏิเสธการนิยามตนเองด้วยอัตลักษณ์ทางเพศที่วางอยู่บนฐานการแบ่งเพศเป็นสองขั้วตรงข้ามคือ ชายและหญิง)

นอกจากนี้ ยังใส่สัญลักษณ์ + ลงไปเพื่อให้เห็นว่า บุคคลหลากหลายทางเพศไม่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หยุดนิ่งหรือตายตัว เพื่อให้เป็นนิยามที่เปิดกว้างสามารถลื่นไหลต่อไปได้ เพราะรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอาจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตข้างหน้า

160079991412

“ความสำคัญของยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ คือการทำให้กลุ่มคนข้ามเพศมีสุขภาวะทางสุขภาพที่ดี สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา และการมีชีวิตอยู่ในสังคม เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันในองค์รวม หากทำให้เกิดความสมดุลในส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้พวกเขาได้รับความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ เหมือนคนทั่วไป โดยที่ไม่ถูกตีตราว่ามีความแตกต่าง”

สำหรับยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ มีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ 1.การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2. การพัฒนาฐานข้อมูลและการบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ LGBTIQN+ 3. การสร้างระบบบริการสุขภาวะที่เป็นธรรมและเข้าถึงด้านได้สำหรับ LGBTIQN+ 4. การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและชุมชน LGBTIQN+ เพื่อการส่งเสริมสุขภาวะ 5.การพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านการเสริมสร้างสุขภาวะ LGBTIQN+

160079991479

 

“ยุทธศาสตร์ LGBTIQN+ มีการทำครอบคลุมเรื่องการแก้ปัญหาสถานการณ์ความหลากหลายทางเพศ 5 ด้าน คือ 1.ปัญหาด้านการศึกษา ถูกกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติ 2.ปัญหาเศรษฐกิจ ถูกละเมิดสิทธิไม่ได้รับโอกาสจ้างงาน 3.ปัญหากฎหมาย ไม่รับรองสถานะบุคคลข้ามเพศ 4.ปัญหาสื่อ ที่มีการผลิตซ้ำ สร้างภาพจำด้านลบ และที่สำคัญที่สุด 5.ปัญหาด้านสุขภาพ ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้เท่าเทียมกัน“ ดร.ชเนตี กล่าว

  • แนะขยายคลินิก LGBT ครอบคลุม

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับคลินิก LGBT เพราะเป็นพื้นที่สร้างความสบายใจให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังคงจำกัดเฉพาะในกทม. ทำให้หลายคนต้องเสียเวลาเดินทางมา ขณะเดียวกัน ในทางการแพทย์พบว่า สิ่งที่ต้องดูแลคนกลุ่มนี้มี คือการทำให้เขายอมรับในเพศวิถีของตัวเอง สร้างความเข้าใจครอบครัวให้ยอมรับในตัวตน

160079991616

ส่วนสถานการณ์สุขภาพ พบว่า ปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ถูกขอคำปรึกษามากที่สุด ควรเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ เพราะกลุ่มความหลากหลายทางเพศมักตกเป็นเหยื่อ รองลงมาคือการขอความรู้และรับฮอร์โมนเพศ เพื่อความสุขในการใช้ชีวิตตามเพศวิถี และการปฏิบัติตัวอย่างไรให้ครอบครัวและสังคมรอบข้างยอมรับ โดยที่ไม่ถูกบูลลี่ และสุดท้ายคือเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

“ขณะที่อีกหนึ่งกฏหมายที่ยังมีปัญหาด้านการปฏิบัติ คือ การเก็บไข่และสเปิร์ม เนื่องจากทางกฏหมายยังไม่รองรับให้คนข้ามเพศมีบุตร ดังนั้น คิดว่าต้องมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน เพื่อให้กลุ่มนี้มีสามารถมีบุตร สามารถเก็บไข่ และ สเปิร์ม ได้ เพราะเรื่องของการเจริญพันธุ์ต้องครอบคลุมกลุ่มความหลากหลายทางเพศและการมีบุตร รวมถึงการบริจาคเลือดที่อาจจะต้องช่วยกันผลักดัน และขับเคลื่อนบริการด้านสาธารณสุขของกลุ่มคนข้ามเพศโดยรวมอยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

160079991774

รองศาตราจารย์ ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ให้ความเห็นว่า ความหลากหลายทางเพศ มีความเป็นเพศไม่นิ่ง มีความลื่นไถล เปลี่ยนแปลงได้ คำว่า Gender Diversity กับ Sexual Diversity ก็ไม่เหมือนกัน สมัยก่อนมีแค่ขาวกับดำ ทอมต้องคู่กับดี้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ดังนั้น ต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ ธรรมดา ภาษาจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ และทำให้ภาวะความรัก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะรูปแบบไหน และต้องทำให้ถูกกฏหมาย ไม่เอาพ.ร.บ. คู่ชีวิต แต่สนับสนุนสมรสเท่าเทียม"

  • เพราะทุกคน คือ คนปกติ

ด้าน คุณเติ้ล - อดิศร กันทะเมืองลี้ นิสิตปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่สนใจในตอนนี้คือ คำว่า Well-being ซึ่งในมุมมองของคนทั่วไป คือ อยู่ดีมีสุข ได้กิน ได้เล่น ได้ทำงาน ในมุมมองที่อยากจะสะท้อนให้คนที่กำหนดยุทธศาสตร์ คือ เราเป็นคนปกติ ไม่ใช่คนพิเศษ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่สร้างมาเพื่อให้พิเศษ ต้องคิดดูดีๆ อีกครั้งหนึ่งว่า นี่คือใช่ หรือ ไม่ใช่

160079991948

“ทุกคนต้องรู้จักสิทธิตัวเอง เคารพตัวเอง และก่อนที่จะเคารพตัวเอง ต้องรู้จักเคารพคนอื่น ทุกคนมีสิทธิและมีความเป็นมนุษยชนเท่าเทียมกัน ดังนั้น ปัญหาอะไรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียม ไม่เท่าเทียม การมีบทบาทในด้านต่างๆ ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่อยากเห็นในยุทธศาสตร์ คือ จะสื่อสารให้กับกลุ่ม LGBTQ อย่างไร ให้เขายอมรับ และเข้าใจว่า จริงๆ เราไม่ใช่คนพิเศษ แต่เป็นคนปกติอีกจำพวกหนึ่ง”

“นอกจากนี้ ส่วนตัวยังให้ความสำคัญ กับ Agieng LGBTQ เพราะวาระสุดท้าย ของกลุ่ม LGBTQ กับญาติจะห่างออกไปเรื่อยๆ หลังจากความตายไปแล้ว ทรัพย์สิน มรดก วาทกรรม ก็คือ Well-being อย่างหนึ่ง เมื่อเจ็บป่วย ใครจะดูแล และพอเสียชีวิตไปแล้ว จะจัดการตรงนี้อย่างไร เชื่อว่าหากมียุทธศาสตร์เกี่ยวกับกลุ่มที่เจ็บป่วย ใกล้จะเสียชีวิต และเสียชีวิตไปแล้ว จะทำอย่างไร ตรงนี้น่าสนใจ” อดิศร กล่าว  

160079991920

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคม ดำเนินงานในด้านต่างๆ เช่น  1.โครงการเพศวิถีหลากหลายในความหมายของครอบครัว 2.โครงการขับเคลื่อนกฎหมายชีวิตคู่เพื่อสร้างความเท่าเทียมเรื่องการแต่งงานในสังคม 3.พัฒนาในเครื่องมือและกลไกการสนับสนุนสมาชิก ครอบครัว เพื่อน และคู่ชีวิต 4.ทบทวนสถานการณ์และเก็บข้อมูลความรอบรู้ด้านสุขภาพ พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 5.พัฒนาแนวคำถามสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในแบบสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 6.คู่มือสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสถานการณ์โควิด-19

“ทุกคนควรได้รับสิทธิความเท่าเทียมในฐานะพลเมือง ซึ่งการเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งทางสังคมและสาธารณสุข มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ คือ หัวใจหลักที่ สสส. ต้องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+” ภรณี กล่าว