แก้ รธน. เกมวัดใจ 250 ส.ว. จริงใจหรือแค่พิธีกรรม?

แก้ รธน. เกมวัดใจ 250 ส.ว. จริงใจหรือแค่พิธีกรรม?

“วันที่ 24 กันยายน 2563 ใครที่มีเวลาขอให้ไปที่รัฐสภาที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไปดูว่าจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่” 

สิ้นเสียงแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ประกาศยุติชุมนุมไปเมื่อช่วงสายของวันที่20ก.ย.ที่ผ่านมา มีการจับตาไปที่การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา6ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกเสนอโดยส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวาระแรกในวันนี้(23 ก.ย.) 

ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ประเด็นการแก้ไขมาตรา256 เปิดทางให้มีการตั้งส.ส.ร.จำนวน200คนเพื่อมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงประเด็นการแก้ไขมาตรา272 ล้างมรดกคสช. โดยการ ปิดสวิตซ์ส.ว.” ในการเลือกนายกรัฐมนตรี 

แต่อย่างที่รู้กันว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีไฟล์บังคับสำคัญคือ  การโหวตในขั้นรับหลักการ วาระที่ 1 ที่จะต้องใช้วิธีคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา (ส.ส.+ส.ว.) หรือ มากกว่า 375 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง 

ในจำนวนนี้จะต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง จากจำนวนเสียงของส.ว.ทั้งหมด250คน ซึ่งส่วนนี้เองที่มีการมองว่า อาจเป็นเงื่อนตายที่อาจทำให้รัฐธรรมนูญผ่านได้ยาก

 

ท่าทีล่าสุดจากฝั่งส.ส.อาทิ วิรัช รัตนเศรษ” ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาลเอง ยังออกมายอมรับว่า ยาก สำหรับการให้ความเห็นชอบญัตติแก้ไขเนื่องจากจะต้องอาศัย84 เสียงจากส.ว.ในการให้ความเห็นชอบ

ส่วนเสียงส.ว.นาทีนี้ก็ยัง ก้ำกึ่ง ระหว่าง ฝ่ายไม่เห็นด้วย” ไล่เช็คดูแล้วมีเกือบ 100 เสียง ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ  ขณะที่อีกฝั่งคือ กลุ่มสนับสนุน ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เวลานี้ยังแบ่งเป็น2กลุ่มคือ กลุ่มคำนูณ สิทธิสมาน ที่สนับสนุนให้มีการตั้งส.ส.ร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ขณะที่อีกกลุ่มคือกลุ่ม “60 ส.ว. ที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นกลุ่มส.ว.อิสระ” สนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราโดยเฉพาะ “ปิดสวิตซ์ส.ว.” ตัดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ลดกระแสสังคมที่อาจนำไปสู่วิกฤติ แต่ไม่เอาด้วยกับการตั้งส.ส.ร. ที่พอเอาเข้าจริงกลับตีชิ่งไม่หือไม่อือ - ไม่ยี่หระ กับเรื่องดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่า “ยังไม่พร้อมออกสื่อ

ฟังจากซุ่มเสียงประมุขสภาสูง อย่างพรเพชร วิชิตชลชัยเองแม้ล่าสุดจะบอกว่า ให้สิทธิ์ส.ว.โหวตอย่างอิสระ 

แต่พอเอาถึงเวลาจริง มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการเสนอให้สภาเดินเกมยื้อ ไม่โหวตวาระแรกในวันที่24ก.ย. แต่ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)เพื่อศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลเพื่อความรอบคอบ ซึ่งตามระเบียบจะต้องทอดเวลาศึกษาไปอีก 45 วัน แล้วนำกลับมาโหวตในสมัยประชุมหน้าซึึ่งจะะเปิดสมัยประชุมในวันที่1พ.ย.

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นส.ว.เองก็จะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่จะตามมา โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่รอทวงถามความชัดเจนอยู่ด้านหน้าสภา และอาจมีผลต่อการกำหนดแผนชุมนุมใหญ่ในวันที่14ต.ค.นี้อีกด้วย

48ชั่วโมงนับจากนี้ จึงคงต้องจับตาว่า ที่สุดแล้วส.ว.จะเลือกตัดสินใจอย่างไร ต้องไม่ลืมว่าเสียงเร่งเร้าทวงถามไปยังฝั่งส.ว ณ ขณะนี้ถือเป็นเกมวัดใจว่า ท้ายสุดแล้วการแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดจาก ความจริงใจหรือเป็นเพียงแค่ พิธีกรรม”?