รัฐคิกออฟจ้าง 2.6 แสนคน ต.ค.นี้ อัด 1.9 หมื่นล้านร่วมจ่ายค่าจ้าง

รัฐคิกออฟจ้าง 2.6 แสนคน ต.ค.นี้ อัด 1.9 หมื่นล้านร่วมจ่ายค่าจ้าง

ครม.อนุมัติจ้างเด็กจบใหม่ 2.6 แสนราย รัฐร่วมจ่ายค่าจ้าง 50% วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท รวม 1 ปี

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรฐกิจและสังคม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสรุปวงเงินที่รัฐบาลตั้งเพื่อแก้ปัญหาทั้ง 3 ระยะ รวม 2.43 ล้านล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ครม.เห็นชอบโครงการจ้างงานสำหรับบัณฑิตและนักศึกษาที่จบใหม่ 260,000 ตำแหน่ง โดยรัฐสมทบจ่ายกับนายจ้างฝ่ายละ 50% รวม 1 ปี ตั้งแต่ เดือน ต.ค.2563-ต.ค.2564 วงเงิน 19,000 ล้านบาท ใช้เงินจากเงินงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษา 3 กลุ่ม ได้แก่

1.ระดับ ปวส.เงินเดือนไม่เกินเดือนละ 11,500 บาท รัฐบาลสนับสนุนเดือนละ 5,750 บาท

2.ระดัับ ปวช.เงินเดือน 9,400 บาท รัฐบาลสนับสนุนเดือนละ 4,700 บาท

3.ระดับปริญญาตรีเงินเดือนละ 15,000 บาท รัฐบาลสนับสนุนเดือนละ 7,500 บาท

ทั้งนี้ อยู่บนเงื่อนไขสำคัญ คือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต้องอยู่ในระบบประกันสังคมมีการยืนยันตัวตนผ่านกระทรวงแรงงาน และมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมไม่เกิน 15% ภายใน 1 ปี (กรณีที่ลูกจ้างลาออกในระหว่างโครงการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการหาลูกจ้างใหม่แทนได้) 

ส่วนลูกจ้างท่ี่ร่วมโครงการต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกินกว่า 25 ปี ต้องสำเร็จการศึกษาปี 2562-2563 ส่วนการจ่ายเงินจะผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยเป็นหลัก

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.2563–ก.ย.2564 จากเดิมจะสิ้นสุดเดือน ก.ย.นี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.9 ล้านคน คิดเป็น 8 ล้านครัวเรือน ซึ่ง 1 ครัวเรือน ใช้ได้เพียง 1 สิทธิ์

สำหรับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาที่ต่ออายุจะใช้เงื่อนไขเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติ คือ  

1.ค่าไฟฟ้า กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนติดต่อกัน 3 เดือน ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการปัจจุบัน แต่กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้สิทธิตามมาตรการนี้ ในวงเงิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หากใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต้องจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งหมด 

2.ค่าน้ำประปา ให้ใช้น้ำประปาวงเงิน 100 บาท ต่อ ครัวเรือนต่อเดือน หากใช้เกินต้องเป็นผู้จ่ายค่าน้ำประปาทั้งหมด โดยใช้งบประมาณสำหรับค่าไฟฟ้า 1,390 ล้านบาทต่อปี ค่าน้ำประปา 33.5 ล้านบาทต่อปี รวม 1,423.5 ล้านบาทต่อปี โดยใช้งบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบอนุมัติโครงการแผนงานใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทอีก 1,575 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและเสี่ยงภัยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนให้ อสม. และ อสส. รวมไม่เกิน 1.05 ล้านคนต่อเดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.2563 

ทั้งนี้ อสม.เป็นกลไกสำคัญในพื้นที่เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะความเสี่ยงในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยเพิ่มเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพ 

2.โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยช่วยเหลือเกษตรกรผู้เสียชีวิตที่มีสิทธิและขึ้นทะเบียนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการและหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของหน่วยงานรับผิดชอบ 5,278 ราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 ซึ่งต้องยืนยันว่าผู้มีสิทธิ์โครงการได้เสียชีวิตจริงและมีหลักฐานการเสียชีวิตตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด 

สำหรับกรณีที่เกษตรกรผู้มีสิทธิภายใต้โครงการเสียชีวิตจริงก่อนระยะเวลาโครงการต้องยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบแล้วว่าเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทดแทนเป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่โครงการกำหนดจึงจะจ่ายเงินเยียวยาตามสิทธิของเกษตรกรผู้เสียชีวิตให้กับเกษตรกรผู้รับช่วงได้