สกสว.โชว์ยุทโธปกรณ์สัญชาติไทย ช่วยประหยัดงบ-รอเอกชนร่วมผลิต

สกสว.โชว์ยุทโธปกรณ์สัญชาติไทย ช่วยประหยัดงบ-รอเอกชนร่วมผลิต

ส.ว.ชื่นชมและชี้แนะทีมวิจัยอุตสาหกรรมความมั่นคงและเทคโนโลยีอวกาศ สกสว. ยกทีมโชว์ผลงานซึ่งผ่านมาตรฐานของ กมย.ของกองทัพ สมรรถนะเทียบเท่าต่างชาติ ช่วยประเทศประหยัดงบนำเข้าได้เกินครึ่ง พร้อมให้เอกชนร่วมสายการผลิตในอนาคต

สำนักประสานงานชุดโครงการอุตสาหกรรมความมั่นคงและเทคโนโลยีอวกาศ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำผลงานวิจัยชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ ใบจักรเรือทำลายทุ่นระเบิด ปืนอีโอดีและชุดน้ำยาตรวจดีเอ็นเอ ร่วมแสดงในงานนิทรรศการ “ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กับการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์” จัดโดย สกสว. ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ณ อาคารรัฐสภา เกียกกาย ตามพันธกิจหลักที่มุ่งให้เกิดโครงการวิจัยเชิงบูรณาการที่มีผลกระทบอย่างมากเพียงพอต่อขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองของประเทศ และผลักดันให้ผลของโครงการเกิดการต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงในหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐและพลเรือน ผลงานได้รับความสนใจจากสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะสายทหารเป็นอย่างมาก ต่างแสดงความชื่นชมยินดีที่คณะทำงานและนักวิจัยใช้ความมานะ นำองค์ความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้จนสามารถสร้างนวัตกรรมที่มีสมรรถนะเทียบเท่าต่างชาติ รวมถึงสอบถามราคา ความต้องการของผู้ใช้งาน ให้คำแนะนำและโจทย์เพิ่มเติม 

160077855270

พันเอกรัตติพล ตันยา นักวิจัยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยงานทหารทุกหน่วยเหล่ามักอาศัยแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานหลัก และต้องจัดซื้อแบตเตอรี่ใหม่จากต่างประเทศเมื่อชำรุดเสียหาย บางกรณีราคาสูงมากและไม่สามารถจัดหาได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ พบว่าชุดแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์ควบคุมทิศทางของปืนใหญ่มีการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานจำนวนมากและต้องใช้งบระดับล้านบาทขึ้นไปในการจัดซื้อใหม่ คณะวิจัยจึงร่วมกับหน่วยผู้ใช้วิจัยและพัฒนาต้นแบบชุดแบตเตอรี่ รวมระบบชาร์จขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ เพื่อลดต้นทุนการนำเข้า ประหยัดงบประมาณ สามารถซ่อมบำรุงได้ง่าย 

ต้นแบบชุดแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน สำหรับการใช้งานร่วมกับระบบควบคุมทิศทางของปืนใหญ่ที่พัฒนาขึ้น มีขนาด 340x230x400 มิลลิเมตร น้ำหนัก 31 กิโลกรัม แรงดัน 24 โวลต์ ความจุมากกว่า 90 แอมป์ ระยะเวลาการชาร์จปกติ 6 ชั่วโมง และแบบเร่งด่วน 3-4 ชั่วโมง มีระบบสมดุลความดันเพื่อรักษาสภาพ โดยผ่านการทดสอบคุณสมบัติและความปลอดภัยทั้งระดับเซลล์และระดับแพ็ค (มอก./IEC, MIL, EN) และได้ส่งมอบต้นแบบ 2 ชุดให้กับศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี เพื่อใช้งานจริงในภาคสนามและเก็บข้อมูลระยะยาวเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถชดเชยแบตเตอรี่ที่เสียหายอยู่ในขณะนี้ โดย สวพ.ทบ.จะนำตัวแบตเตอรี่เข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป ปัจจุบันได้ผ่านมาตรฐานของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ กองทัพบก (กมย.ทบ.) โดยมีต้นทุนที่ 5 แสนบาท/ก้อน ขณะที่การสั่งซื้อจากต่างประเทศราคาเริ่มต้นที่ 1.2-2 ล้านบาท

160077867167

"งานวิจัยนี้ช่วยประหยัดงบประมาณ 60.3 ล้านบาท ทุก 2 ปี (คำนวณจากแบตเตอรี่ 36 ก้อน เครื่องชาร์จ 18 ชุด) และยังมีโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมสายการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในระยะถัดไป ทั้งยังเป็นการสร้างความพร้อมรบของกองทัพในปืนใหญ่ที่ทันสมัยที่สุด สามารถขยายผลไปยังยุทโธปกรณ์อื่นที่ใช้แบตเตอรี่ นำไปสู่การพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า จึงถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งมีความคุ้มค่าและส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ" พันเอกรัตติพล ตันยา กล่าว

ขณะที่ผลงานการผลิตและทดสอบใบจักรเรือแมงกานีสอลูมิเนียมบรอนซ์ โดยนาวาโทเสวียง เถื่อนบุญ สังกัดกรมอู่ทหารเรือ ซี่งใบจักร Voith Schneider (VSP) เป็นใบจักรแนวตั้งที่มีลักษณะเด่นในการให้ความคล่องตัวในการขับเคลื่อนเรือ รวมถึงไม่มีสมบัติทางแม่เหล็กอันเป็นสมบัติสำคัญสำหรับเรือล่าทำลายทุ่นระเบิด โดยกองทัพเรือมีเรือล่าทำลายทุ่นระเบิด คือ เรือหลวงลาดหญ้า และเรือหลวงท่าดินแดง ที่ใช้ใบจักรดังกล่าวลำละ 10 ใบ แต่จากการใช้งาน 14 ปีที่ผ่านมาพบความเสียหายแบบการกัดกร่อนร่วมกับความล้า ทำให้ใบจักรหักในทุก 2,000 ชั่วโมง ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก นำเข้าจากต่างประเทศใบละ 5 ล้านบาท จึงต้องใช้งบในการเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งหมดกว่า 100 ล้านบาท และใช้เวลากว่า 1 ปีในการสั่งผลิตจากต่างประเทศ ส่งผลให้กองทัพเรือสูญเสียทั้งงบประมาณและเวลา อีกทั้งได้รับผลกระทบในการเตรียมความพร้อมของเรือในการปฏิบัติภารกิจ 

160077873114
  ผลจากการผลิตด้วยกระบวนการวิศวกรรมย้อนกลับจนได้ใบจักรที่สมบูรณ์จำนวน 5 ใบ ตามมาตรฐาน Copper-Aluminum Cast Alloy เกรด G-CuAl8Mn8 และ กมย.ทร. ซึ่งนักวิจัยได้นำไปติดตั้งทดสอบในเรือหลวงลาดหญ้าเพื่อช้งานในทะเล พบว่ามีสมบัติเทียบเคียงกับใบจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้กองทัพเรือลดความเสี่ยงด้านยุทธการของการเตรียมเรือให้พร้อมรบ สามารถใช้ทดแทนของต่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์ด้วยต้นทุนที่ประหยัดกว่าถึงร้อยละ 60 ใช้เวลาการผลิตเพียง 6 เดือน

 
“ผลงานดังกล่าวเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของกองทัพเรือรวมทั้งตอบสนองต่อนโยบายการพึ่งพาตนเองได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโลหะวิทยาและกระบวนการในการทำวิศวกรรมย้อนหลับสู่ภาคเอกชนเพื่อเป็นพื้นฐานการผลิตใบจักร VSP ในวัสดุอื่นที่มีศักยภาพ หรือใบจักรรูปแบบอื่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวีของประเทศไทยที่เรามีศักยภาพเพียงพอในการส่งออกได้ในอนาคต” นาวาโทเสวียง เถื่อนบุญ กล่าว