กฟผ.หั่นโบนัส 2 ปี แลกส่งเงินเข้ารัฐ

กฟผ.หั่นโบนัส 2 ปี แลกส่งเงินเข้ารัฐ

"กุลิศ" เตรียมไล่บี้แผนลงทุน กฟผ. ลดค่าใช้จ่ายแทนหั่นกำไร กระตุ้น กกพ.และสนพ. ศึกษาแยกโครงสร้างค่าไฟรองรับรถอีวี ด้าน กฟผ. นำร่องวินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า ใช้บริการ 51 คัน สิ้นปีนี้ และเรือไฟฟ้า 2 ลำ ทดลองให้บริการ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด กฟผ. เปิดเผยว่า แนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 ก.ย.63 ที่มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปทบทวนความต้องการรายได้ของ 3 การไฟฟ้า ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น

โดยเบื้องต้น มองว่า การลดต้นทุนทางการเงิน ไม่จำเป็นต้องมุ่งไปที่การปรับลดอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) เท่านั้น แต่ยังมีหลายแนวทางที่ดำเนินการได้ เช่น การปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ. ออกจากระบบเร็วขึ้น และหันไปสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีเชื้อเพลิงราคาถูกแทน เป็นต้น ก็จะเป็นอีกแนวทางที่ส่วนลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องลดรายได้ของการไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ก.ย.63 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับ กฟผ. อีกครั้ง

160077765657

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โดยหากจะมีการรื้อ ROIC ก็จะต้องดูว่าจะกระทบและควรปรับเกณฑ์เงินกู้หรือไม่อย่างไร และต้องดูนโยบายจากกระทรวงการคลังด้วย ว่าเม็ดเงินอัตราผลตอบแทนส่งคืนรัฐที่ผ่านเรียก 35-45% ของกำไรสุทธิ จะเรียกเพิ่มหรือไม่ ซึ่งหากปรับวงเงินผลตอบแทนจะกระทบ ในส่วนนี้หรือไม่ แต่ในเบื้องต้น กฟผ.จะร่วมเสียสละ ไม่รับโบนัสประมาณ 2 ปี จากผลประกอบการปี 2563-2564 เพื่อภาครัฐจะได้มีวงเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ในเบื้องต้น กฟผ.จะร่วมเสียสละ ไม่รับโบนัสประมาณ 2 ปี จากผลประกอบการปี 2563-2564 เพื่อภาครัฐจะได้มีวงเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจขากโควิด-19

วานนี้ (22 ก.ย.) นายกุลิศ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "E Trans E" (Electric Transportation of EGAT) นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. พร้อมปล่อยขบวนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเปิดตัวเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ โดยระบุว่า แผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)และ กกพ. ไปศึกษาแนวทางแยกโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะในอนาคตแนวโน้มรถอีวีจะเติบขึ้นอย่างรวดเร็ว และหลายรูปแบบทั้ง รถไฟฟ้าสายต่างๆ รถเมล์ไฟฟ้า รวมถึง เรือไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

"ก็ควรแยกระบบคิดค่าไฟขนส่งสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้าออกมา ดูอัตราค่าไฟฟ้าต่างๆ หากมียอดการใช้งานเพิ่มขึ้นอัตราก็ควรถูกลง แลหากดีมานด์เพิ่มขึ้น ก็จะต้องจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP)ให้รองรับด้วย"

โดยปัจจุบัน กกพ.อยู่ระหว่างดำเนินการทดลองในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุน การให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) เพื่อนำข้อมูลมาคำนวณโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม

  

160077750626

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต กฟผ.จะต้องเป็นหน่วยงานแรกที่ปักหมุดเป็นแหล่งพลังงานด้านปั๊มชาร์จสำหรับขนส่งสาธารณะด้วยการมุ่งพัฒนาวิจัยแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charger) ซึ่งการพัฒนาสถานีชาร์จจะร่วมมือกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ในการติดตั้งที่ปั๊มชาร์จไฟฟ้าในปั๊ม ปตท. และแผนยุทธศาสตร์ของกฟผ.การพัฒนานวัตกรรมพลังงานในรูปแบบธุรกิจจะดำเนินงานภายใต้บริษัท อีแกท อินโนเวชั่น โฮลดิ้งส์ คัมปานีส์ จำกัด ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติเพื่อจัดตั้งบริษัทดังกล่าวต่อไป

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า ในปีนี้ กฟผ. มีเป้าหมายนำร่องวินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 51 คัน ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร โดยผู้ขับขี่สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำรองได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในปลายปี 2563

นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้า จำนวน 2 ลำ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 214 กิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถแล่นด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 10 น็อต ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

โดยระบบปรับอากาศในห้องโดยสารถูกออกแบบให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคาเรือทั้ง 2 ลำ รองรับผู้โดยสารได้ลำละ 80 คน ซึ่งในระยะแรกจะทดสอบการเดินเรือเพื่อศึกษาวิจัยและประเมินสมรรถนะของเรือ โดยนำมาใช้ในภารกิจของ กฟผ. ก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคตเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง "ล้อ ราง เรือ" ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเรือไฟฟ้าอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ.

 
160077748161