อัดฉีดโค้งสุดท้าย รัฐเดิมพันฟื้นเศรษฐกิจ

อัดฉีดโค้งสุดท้าย รัฐเดิมพันฟื้นเศรษฐกิจ

เข้าสู่โค้งสุดท้ายปี 2563 ปีที่เศรษฐกิจไทยและโลกบอบช้ำจากวิกฤติโควิด-19 ล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบมาตรการจำนวนมากเป็นแพคเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นับเป็นการเดิมพันด้วยงบประมาณของคนไทย รวมถึงอีกสิ่งสำคัญที่รัฐควรทำควบคู่กันคือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนการบริโภคของประชาชนในมาตรการคนละครึ่งและการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) รายงาน พร้อมสั่งการให้กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการไปทำรายละเอียดเข้ามาเสนอ ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า กลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไปรวม 24 ล้านคน วงเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลหวังว่ามาตรการนี้จะเพิ่มกำลังการจับจ่ายใช้สอยให้ประชาชน ช่วยสร้างการหมุนเวียนของเงินในระบบ ส่งผลให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจะมีเงินไปหมุนไปต่อยอดในการซื้อขาย เงินหมุนได้อีกหลายรอบ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจรวมหลายแสนล้านบาท ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการจ้างงานบัณฑิตและนักศึกษาจบใหม่รวม 2.6 แสนตำแหน่ง โดยบรัฐบาลสมทบจ่ายกับนายจ้างคนละ 50% ระยะเวลา 1 ปี หรือ ต.ค. 63 - ต.ค.64 วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท หรือต่ออายุบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ออกไปอีก 12 เดือน ไม่นับการอนุมัติอีก 1.57 พันล้านบาท ในโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิดในชุมชน 

การคลอดโครงการต่างๆ ออกมาครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นแพคเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของปี เป็นการเดิมพันด้วยงบประมาณของคนไทย ท่ามกลางภัยโควิดทว่าการดำเนินนโยบายเพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น เราเห็นด้วยกับการเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ ยิ่งการดูแลตรงเป้าและต่อเนื่อง จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยจะมีความหวังในการอยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิดไปได้

แต่หากสุดท้ายหากนโยบายที่ออกมาไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ได้ตามเป้าก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่ เริ่มต้นที่ตัวผู้นำและ ครม.จะต้องไม่เล่นการเมืองอย่างเด็ดขาด ต้องหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในยุคโควิด รัฐบาลไม่ทำไม่ได้แล้ว วันนี้ทั่วโลกคิดใหม่ทำใหม่ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจได้แก่อุตสาหกรรมบันเทิงในเกาหลีใต้ 

รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนรับอนาคตเศรษฐกิจไว้หลายปี จนประสบความสำเร็จมาตั้งแต่แต่ก่อนยุคโควิด กระทั่งวันนี้โลกยอมรับวงไอดอลแดนกิมจิที่มาจากกลยุทธ์ซอฟต์เพาเวอร์ แปลงวัฒนธรรมสู่สินค้า เข้ากับยุคนิวนอร์มอลได้อย่างเหมาะเจาะ เมื่อวานนี้ทวิตเตอร์ร่วมกับเค-ป็อป เรดาร์ เปิดเผยข้อมูลเชิงลึก #KpopTwitter ชุมชนระดับโลกที่มี 20 ประเทศทั่วโลกมีบทสนทนาเกี่ยวกับเคป็อปติดอันดับมากที่สุด ประเทศไทยติด 10 อันดับแรกที่มีจำนวนผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่พูดถึงเคป็อปมากที่สุด ที่สำคัญไทยคือแชมป์อันดับ 1 ประเทศที่มีการทวีตข้อความเกี่ยวกับเคป็อปมากที่สุดในโลก รัฐบาลควรจะนำข้อมูลดังกล่าวไปดัดแปลงวางแนวนโยบายยุทธศาสตร์ประเทศ ไม่ปีนี้ก็ปีหน้า ถ้าเปิดใจกว้าง ไม่มีคำว่าสายเกิน