จากเศษวัสดุสู่ ‘บรรจุภัณฑ์’ กาแฟดอยตุง

จากเศษวัสดุสู่ ‘บรรจุภัณฑ์’ กาแฟดอยตุง

วัสดุที่เหลือจากการผลิตกระดาษ และเศษฝ้ายจากโรงงานทอผ้าในเครือข่ายของแบรนด์ดอยตุง ผ่านมือของกลุ่มนักออกแบบจากแม่ฟ้าหลวง กลายเป็น บรรจุภัณฑ์กาแฟพีเบอร์รี่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าหน้าที่หลักของงานออกแบบบรรจุภัณฑ์คือประโยชน์ใช้สอยที่สามารถปกป้องสินค้าได้อย่างดีเยี่ยม และการสื่อสารผ่านภาพประกอบ ข้อความ ที่บอกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ด้านในอย่างครบถ้วน แต่หน้าที่สำคัญที่บรรจุภัณฑ์เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือ การเป็นกระบอกเสียงในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

160077660878

ไม่ว่าจะเป็น การนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง มาพัฒนาเป็นพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน การเลือกใช้พลาสติกรีไซเคิล 100% มาพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติก หรือแม้กระทั่งการลดปริมาณการใช้พลาสติกในงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นต้น

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจคืองานออกแบบกาแฟพีเบอร์รี่ดอยตุง ที่นำเศษวัสดุที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตมาชุบชีวิตให้เกิดประโยชน์ใช้สอยแทนการโยนทิ้งลงในถังขยะ กลุ่มนักออกแบบจากแม่ฟ้าหลวงเล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบที่เหมาะสม กระบวนการผลิตที่มุ่งหวังที่จะลดขั้นตอนในการผลิต ระยะเวลาในการทำงานที่สั้นลง การลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต

160077663243

จากการศึกษาพบว่า แบรนด์ดอยตุงมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ได้แก่ กระดาษสา ผ้าทอ เซรามิค และอาหารแปรรูป เช่น แมคคาดาเมีย และกาแฟ เป็นต้น แต่ทุกขั้นตอนการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านั้นล้วนก่อให้เกิดของเสียระหว่างทาง ทีมงานออกแบบจึงนำวัสดุที่เหลือจากการผลิตกระดาษ และเศษฝ้ายจากโรงงานทอผ้ามาขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ (เป็นแม่พิมพ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซรามิค)

คุณสมบัติที่โดดเด่นของแม่พิมพ์ชนิดนี้คือการดูดซึมน้ำ ทำให้บรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ชนิดนี้แห้งเร็วขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การผสมผสานระหว่างกระดาษ และเศษฝ้าย ยังสร้างลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะให้กับบรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้น เกิดเป็นงานศิลปะบนบรรจุภัณฑ์กาแฟพีเบอร์รี่ดอยตุงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

160077665137

อีกหนึ่งแนวคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่เลือกกระบวนการผลิตที่เหมาะสมผสมผสานกับเศษวัสดุ ที่หลงเหลือจากการผลิตพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากรแล้ว ยังช่วยสร้างคุณค่า และมูลค่าให้กับเศษวัสดุ พร้อม ๆ ไปกับการกระตุ้นให้ผู้บริโภคทุกท่านหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ////