ทีโอที เล็งจ่ายค่าคลื่น '5จี'  ต.ค.นี้

ทีโอที เล็งจ่ายค่าคลื่น '5จี'  ต.ค.นี้

เผยแผนรวมเสาโทรคมร่วมกสทฯมีกว่า 43,000 ต้น

ทีโอทีระบุแม้ปีนี้ไม่เหมาะลงทุนแต่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมด้านธุรกิจ พร้อมเตรียมจ่ายค่าคลื่น 26 กิกลุย 5จีปลายเดือนต.ค.นี้ หลังเอกชนจีบให้บริการในโรงงานอุตสาหกรรม คุยบริษัทมีความพร้อมทุกด้านโดยเฉพาะอินฟราสตรัคเจอร์ที่หลังจากผนึกกับกสทฯสู่เอ็นทีจะมีสถานีฐาน43,000แห่ง ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่แม้แต่แห่งเดียว เป็นแต้มต่อให้กับการทำตลาดในอนาคต

นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า เตรียมเข้าชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 แก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งทีโอทีเป็นผู้ชนะการประมูลจำนวน 4 ใบอนุญาตๆ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 400 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 1,920.65 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ทั้งนี้ การชำระเงินงวดแรกเพื่อให้ทีโอทีสามารถนำเข้าอุปกรณ์ได้ และนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวไปทดสอบทดลองหารูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ทั้งนี้ คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ เป็นย่านความถี่สูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก รับ-ส่งได้อย่างรวดเร็วในปริมาณสูง รวมทั้งมีความหน่วงเวลา หรือความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำ ซึ่งความสามารถนี้ทำให้เหมาะกับการใช้งานระบบที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน และการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

“การลงทุนในคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องปูพรม เมื่อมีลูกค้าแล้วค่อยลงทุนได้ โดยขณะนี้มีเอกชนสนใจเข้าเจรจาเพื่อขอนำคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์ หรือโรบอท แทนการใช้แรงงานคน เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตมากยิ่งขึ้น” นายมรกต กล่าว

นายมรกต กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การควบรวมกิจการระหว่างทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม จำเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที มีการเปิดเผยสินทรัพย์โทรคมนาคมเพื่อใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5จี ร่วมกัน โดยทีโอที มีเสาสัญญาณจำนวน 25,000 ต้น ขณะที่ กสทฯมี 18,000 ต้น รวม 43,000 ต้น ซึ่งจะทำให้ทั้งสององค์กรมีศักยภาพ มีโครงข่ายที่แข็งแกร่ง นำไปสู่การร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายอื่นๆ ในการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน

“จากสภาพเศรษฐกิจคิดว่า ปีนี้เป็นปีที่ไม่เหมาะกับการลงทุนนัก แต่เป็นปีในการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องกระแสเงินสด และบุคลากรเพื่อให้พร้อมสำหรับปีหน้า ในส่วนของแผนธุรกิจในไตรมาสสุดท้ายนี้ เมื่อมองเห็นว่าผลกระทบจากโควิด-19 น่าจะยังไม่จบเพราะไม่รู้ว่าจะมีวัคซีนเมื่อไร ทีโอทีก็ต้องยอมรับว่ารายได้ ที่คาดว่าจะได้ต้องหายไปอย่างแน่นอนจากการที่ลูกค้าเริ่มได้รับผลกระทบ”นายมรกต กล่าว

ทั้งนี้ การให้บริการ 5จีจะเริ่มให้บริการฟิกซ์ ไวร์เลส บรอดแบนด์ในพื้นที่ทดสอบ เช่นอาคารสูง ในพื้นที่ห่างไกลที่มีต้นทุนการวางสายสูง และการพัฒนาบริการดิจิทัลด้วยการเพิ่มความสามารถ และการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยี 5จี ทำงานเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และด้วยศักยภาพของ ทีโอที ที่มีความพร้อมในการก้าวเป็นผู้นำเทคโนโลยีอวกาศ จึงได้เตรียมพร้อมในการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอากาศและการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจระบบดาวเทียม เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเครือข่ายระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ด้วย