การชุมนุมแก้ด้วยสันติ ความรุนแรงคือทางตัน

การชุมนุมแก้ด้วยสันติ ความรุนแรงคือทางตัน

ขณะนี้สถานการณ์ "การเมืองไทย" เดินสู่จุดที่เปราะบาง ทั้งจากตำแหน่งขุนคลังที่ยังไม่สามารถหาผู้ที่เหมาะสมได้ ประกอบกับการชุมนุมทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงและต่อเนื่อง จึงเป็นห้วงเวลาที่รัฐบาลต้องใช้สติ เลี่ยงใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เพราะจะนำพาไปสู่ทางตัน

ต้องยอมรับว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบหนักจาก “วิกฤติโควิด” จำเป็นต้องขับเคลื่อนมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาจากการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจหลายตำแหน่ง ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถสรรหาตัวผู้เหมาะสม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนับเป็นตำแหน่งสำคัญ อาจเรียกได้ว่าเป็น “แม่ทัพเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลก็ว่าได้

ผสมโรงด้วย “การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่เพิ่งมีการชุมนุมใหญ่ ในช่วงบ่ายของวันที่ 19 ก.ย. ต่อเนื่องมายุติลงในช่วงสายของวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่การชุมนุมมีแนวโน้มจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนัดชุมนุมใหญ่รอบใหม่ในวันที่ 14 ต.ค. ผู้ชุมนุมยังเรียกร้องให้ประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ร่วมกันหยุดงานทั่วประเทศในวันดังกล่าว เพื่อมาร่วมชุมนุม ขณะที่ข้อเสนอของผู้ชุมนุม คือการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นต้น

สถานการณ์ทางการเมืองในไทยขณะนี้จึงถือว่าเดินสู่จุดที่ “เปราะบาง” อย่างยิ่งว่าจะส่งกระทบต่อการเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ หากเกิดการ “ล้างไพ่” ทางการเมือง หรือการชุมนุมประท้วงยากต่อการควบคุมสถานการณ์ เวลานี้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องใช้ “สติ” และ “ขันติ” ในการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไปพร้อมกับการระดมสมองผู้มีสติปัญญาในแต่ละภาคส่วน มาขบคิดแก้ไข ผ่อนคลายสถานการณ์ ประเมินกันว่ายอมถอยได้แค่ไหน เพื่อประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้บานปลาย โดยขอให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ไม่ควรใช้ “ความรุนแรง” ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมที่เกิดขึ้น เพราะถือเป็น “ทางออกที่กำลังเดินสู่ทางตัน” ในการแก้ไขปัญหาทุกด้าน โดยเฉพาะด้านความสงบสุขของบ้านเมือง และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าการชุมนุมประท้วงครั้งที่ผ่านๆมา ย้อนกลับไปมักมีประเด็นเรื่อง “ปากท้อง” เข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย 

ในยามนี้ก็เช่นกัน วิกฤติโควิดทำให้ผู้คนอึดอัดกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่จุดติดการชุมนุม พ่วงไปสู่เรียกร้องให้ปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การกินดีอยู่ดีของคนในชาติ ทว่าผลลัพธ์ของการชุมนุมจุดจบอาจไม่ใช่การทำลายล้าง ให้แตกหักกันไปข้าง แต่ขอให้มองว่าการชุมนุมนัยหนึ่งเป็น “เครื่องสะท้อน” ความคับข้องใจของผู้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่แสดงออกผ่านการชุมนุมตามกระบวนการประชาธิปไตย รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง จึงควรรับข้อเสนอของคนกลุ่มนี้มาพิจารณา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการพยุงเศรษฐกิจไทย ไม่ให้ดิ่งไปกว่านี้