‘โปรตีนอวกาศ’ จุดสตาร์ทไทยแตะอุตสาหกรรมอวกาศ

‘โปรตีนอวกาศ’ จุดสตาร์ทไทยแตะอุตสาหกรรมอวกาศ

ใกล้ถึงเส้นชัยเข้ามาเรื่อยๆ กับโครงการศึกษาวิจัยโปรตีนอวกาศเพื่อพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรีย โดยวานนี้ “ผลึกโปรตีน”พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญถูกส่งจากองค์การอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ถึงมือนักวิจัยไทย หลังถูกส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ด้วยจรวด SpX-18

หากโครงการพัฒนายาต้านมาลาเรียประสบความสำเร็จ จะสร้างรายได้ในประเทศประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี และรายได้จากภายนอกประเทศประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี โดยคำนวณจากจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียในไทยประมาณปีละ 2 แสนคน และทั่วโลกประมาณ 1 ล้านคน

ผลึกโปรตีนอวกาศกลับไทย

ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กล่าวว่า การวิจัยผลึกโปรตีนเป็นความร่วมมือ 3 หน่วยงานคือ จิสด้า ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ JAXA ดำเนินการตกผลึกหรือปลูกผลึกโปรตีนในห้องปฏิบัติการอวกาศคิโบะ (Kibo Module) ของ JAXA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

160070347813

เพื่อให้ได้ผลึกโปรตีนที่มีคุณภาพ สามารถเห็นโครงสร้างของตัวโปรตีนที่เป็นเป้าหมายของยาได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถออกแบบตัวยาที่จะสามารถจับกับโปรตีนตัวนี้ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้การปลูกผลึกโปรตีนอวกาศดำเนินการแล้วเสร็จ และส่งกลับมายังประเทศไทยเพื่อทำการศึกษาโครงสร้างโปรตีนเป็นกระบวนการต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากทำการทดลองอยู่ในอวกาศนานกว่า 30 วัน ไอเอสเอสทำการปลดล็อกแคปซูลซึ่งลักษณะเหมือนถ้วยและข้างในบรรจุกล่องทดลองให้กลับสู่พื้นโลก โดยตกในทะเลบริเวณพื้นที่ลองบีช ทางชายฝั่งทะเลแคลิฟอร์เนียตอนใต้ของสหรัฐ ซึ่งมีการควบคุมวงโคจรและคำนวณตำแหน่งล่วงหน้าไว้แล้ว จากนั้นทางนาซาได้ลากกลับไปที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ และส่งต่อไปที่ JAXA ซึ่งนำไปฉายแสงกับเครื่องซินโครตรอนพลังงานสูง ซึ่งจะทำให้เห็นโครงสร้างผลึกโปรตีนได้อย่างชัดเจน 

160070349716

JAXA อำนวยความสะดวกในการฉายแสงรังสีเอ็กซ์ทุกอย่างให้กับทางจิสด้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากโครงการวิจัยปลูกโปรตีนในอวกาศแล้ว จิสด้ายังมีแผนงานในอนาคตที่จะทดลองปลูกต้นมันสำปะหลังในอวกาศ ทดลองผสมอาหารในอวกาศ และทดลองหมักเชื้อ PGA ในอวกาศ หรือ การเลี้ยงไข่น้ำในอวกาศอีกด้วย โดย JAXA สนับสนุนทั้งผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีเพื่อผลิตผลงานวิจัยด้านอวกาศที่มีคุณค่าและก่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ หัวหน้าทีมวิจัยไบโอเทค กล่าวว่า ผลการตกผลึกโปรตีนในอวกาศมีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากในอวกาศไม่มีแรงโน้มถ่วง การตกผลึกโปรตีนจึงเป็นแบบธรรมชาติที่สุด มีคุณภาพที่ดีกว่าการปลูกผลึกโปรตีนบนพื้นผิวโลกอย่างมาก

“งานต่อจากนี้จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการกระเจิงของแสง เพื่อศึกษาโครงสร้างโปรตีน ซึ่งเป็นเป้าหมายยาต้านมาลาเรียนี้ เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลโครงสร้างโปรตีนที่ได้จากการปลูกผลึกบนโลก และหวังว่าจะได้ข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยในการออกแบบยาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียทั่วโลก”

160070351776

JAXA เดินเครื่องวิจัยอวกาศ

โอโนะ อิสึชิ ผู้อำนวยการ JAXA Bangkok Office กล่าวว่า ประเทศไทยมีงานวิจัยที่มีคุณค่าจำนวนมาก งานวิจัยการปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศถือเป็นอีก 1 งานวิจัยที่มีคุณค่าและความสำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อวงการสาธารณสุขโลก JAXA ในฐานะที่มีผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ ตลอดจนห้องปฏิบัติการทดลองในอวกาศ มีความพร้อมและยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านอวกาศที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อไป

160070353755

ที่ผ่านมา JAXA ได้ดำเนินงานวิจัยในอวกาศอย่างต่อเนื่อง และมีงานวิจัยเสร็จสิ้นไปแล้วหลายชิ้น อาทิ การศึกษาผลของสภาพไร้แรงโน้มถ่วงที่มีต่อสิ่งมีชีวิต ด้วยการส่งสัตว์ชนิดต่างๆ ขึ้นไป เช่น ลิง สุนัข กบ แมลง ปลา แมลงสาบ ตัวอ่อนของมอด และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ 

ความรู้ที่ได้จากการทดลองสามารถนำมาใช้ปรับปรุงการรักษากล้ามเนื้อกับสำหรับผู้พิการและผู้ป่วย การทดลองปลูกพืชบนสถานีอวกาศ เช่น ข้าว ผักกาด หัวไชเท้า กะหล่ำ ถั่ว พืชผักสวนครัวต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ มาพัฒนาเทคนิคด้านเกษตรกรรม เทคนิคการเพาะปลูกแบบต่างๆ เป็นต้น