ตำนานการเมือง 'บ้านสี่เสาฯ' ที่ต้องจารึก

ตำนานการเมือง 'บ้านสี่เสาฯ' ที่ต้องจารึก

หลังจาก ‘ป๋าเปรม’ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน ถึงแก่อสัญกรรม ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น เลขที่ 279 ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กทม.

ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ ที่กองบัญชาการกองทัพบก ใช้ทำประโยชน์ตั้งแต่อดีตได้ถูกส่งคืนให้กรมสวัสดิการกองทัพบก ก่อนจะส่งต่อไปยังสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กระทั่งล่าสุดได้มีการรื้อถอนเพื่อทำประโยชน์อื่นๆ 

ที่มาของชื่อ ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ ที่พักของรัฐบุรุษ ‘พล.อ.เปรม’ เดิมบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของเสาไฟฟ้า 4 ต้น รองรับหม้อแปลงจ่ายไฟให้กับรถรางสายเทเวศร์-ท่าเตียน ผู้คนจึงเรียกขานว่า “สี่เสา”

160074093137

ส่วน “เทเวศร์” มาจากชื่อของ “วังเทเวศร์” ที่ตั้งอยู่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ” ซึ่งเป็นพระอัยกาฝ่ายพระบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชปัยกาฝ่ายพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน

 ทว่าจุดกำเนิดของ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” สร้างขึ้นสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ.2500 ก่อนที่ ‘ป๋าเปรม’ จะใช้พักอาศัย ตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เรื่อยมาถึง รมช.มหาดไทย นายกรัฐมนตรี 3 สมัย 8 ปี จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต รวมกว่า 40 ปี

บ้านหลังนี้เปรียบเป็น ‘กองบัญชาการ’ ประตูด้านข้างที่ ‘ป๋าเปรม’ ย้ำอยู่เสมอ ห้ามเรียก ประตูหลัง หากใครเผลอเรียกมีเคือง จะเปิดต้อนรับบุคคลสำคัญ ทั้ง นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี นักการเมือง ผบ.เหล่าทัพ ข้าราชการ และ นักธุรกิจ เพื่อมาขอคำปรึกษาและแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤติ

160074094277

โดยในช่วง ‘ป๋าเปรม’ เป็นนายกรัฐมนตรี ควบ ผบ.ทบ. เกือบถูก ‘กบฎยังเติร์ก’ นำโดยกลุ่ม ‘จปร.รุ่น 7’ ยึดอำนาจคา ‘บ้านสี่เสาร์เทเวศ’ มาแล้ว แต่ด้วยความเก๋าเกม เหนือชั้นกว่า จึงใช้อุบาย ขอออกมาโทรศัพท์ และหลบหนีการจับกุมออกมาได้ ทำให้การ ‘รัฐประหาร’ ครั้งนั้นล้มเหลว

ในขณะที่ทุกปีบ้านสี่เสาเทเวศร์ จะถูกจับจ้องจากสังคม โดยเฉพาะในวันปีใหม่ วันสงกรานต์ หรือ วันเกิด ‘ป๋าเปรม’ จะมีคำอวยพร วาทะเด็ด อะไรมามอบให้กับ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ขุนทหาร หรือคำพูดที่ต้องการสื่อสารถึงใครเป็นพิเศษ และจะกลายเป็นข่าวพาดหัว ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในวันรุ่งขึ้น แต่หากเป็นยุคนี้ ยอดวิวคงพุ่งสูงเป็นหลักล้าน

แต่เรื่องที่เล่าขานกันไม่รู้ลืม คือ ตำนาน ‘มุดบ้านป๋า’ จัดโผ ครม. ในรัฐบาลยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ทุกคนที่ได้รับเชิญเข้าร่วม ครม. ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ อดีตข้าราชการ

160074095714

ต้องเข้าไปพบ ‘ป๋าเปรม’ ที่บ้าน โดยใช้ช่องทางประตูเหล็กสีเทาบานใหญ่ ข้างสโมสรทหารบก หลีกเลี่ยงสื่อที่ติดตามรายงานสถานการณ์

และหากยังจำกันได้ ยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่กำลังเกิดความระส่ำระสาย และความไม่มั่นคงทางการเมือง ‘คุณหญิงอ้อ’พจมาน ชินวัตร (ณ ป้อมเพชร) ก็เคยมุดบ้าน ‘ป๋าเปรม’เพื่อไปขอคำแนะนำมาแล้ว ไม่เว้นแม่แต่ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’

160074096915

ว่ากันว่า ช่วงที่ ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ เฟื่องฟู ไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า ‘ลูกป๋า’ ประกอบด้วย ทหาร นักการเมืองพลเรือน ข้าราชการ ที่เคยทำงาน หรือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาตั้งแต่อดีต มักได้รับการโปรโมทในตำแหน่งสำคัญ ทั้งใน ครม.และกองทัพ

โดย ‘ลูกป๋า’ เหล่านี้ ต้องผ่านบ้านสี่เสาฯ และเข้ารายงานสถานการณ์บ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พล.อ.อู้ด เบื้องบน พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย เป็นต้น ในชีวิตรับราชการหลายคนประสบความสำเร็จ ไม่ต่างจากทหารกลุ่มอื่นๆ ทั้ง “วงษ์เทวัญ” หรือ “บูรพาพยัคฆ์” 

160074098572

ทั้งนี้ก่อน ‘ป๋าเปรม’ ถึงแก่อสัญกรรม แขกต่างประเทศคนแรก และคนสุดท้ายที่ได้เข้า ‘บ้านพักสี่เสาเทเวศร์’ คือ เพื่อนรัก ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังไม่ได้เจอกันมายาวนานกว่า 30 ปี

ตำนานการเมือง \'บ้านสี่เสาฯ\' ที่ต้องจารึก

ถึงแม้สถานที่จะไม่มีอยู่อีกต่อไป แต่ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” ก็ยังคงเป็นตำนาน ที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะฉากสำคัญในเหตุการณ์บ้านเมืองในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่จะถูกกล่าวขานถึงอย่างไม่รู้จบ