สศช.ห่วงปัจจัย '3 สูง 3 ต่ำ' ฉุดเศรษฐกิจหลังโควิด

สศช.ห่วงปัจจัย '3 สูง 3 ต่ำ' ฉุดเศรษฐกิจหลังโควิด

สศช.ห่วงภาวะ 3 สูง “ว่างงาน หนี้สาธารณะ หนี้เอกชน” ชี้ ต้องเร่งฟื้นฟูประเทศ ระบุพึ่งเศรษฐกิจภายในมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ประจำปี 2563 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วานนี้ (21 ก.ย.) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้มีการสรุปครึ่งทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมทั้งนำเสนอแนวคิดแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่จะรับมือผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะใช้ปี 2564-2565

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยหลังจากโควิดจะต้องเจอกับภาวะ 3 สูง 3 ต่ำ โดย 3 สูง คือ อัตราการว่างงานสูง หนี้สาธารณะสูง และหนี้ภาคเอกชนสูง 

ส่วน 3 ต่ำ คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในรูปแบบดังกล่าว และต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วนในการรับมือ

ทั้งนี้ ทิศทางหลังจากโควิด-19 จะต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายในประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่พึ่งพารายได้จากภายนอกประเทศทั้งส่งออกและการส่งออกท่องเที่ยวมากกว่า 70% ซึ่งการฟื้นตัวยังคงคาดหวังการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับ 3% ส่วนระดับหนี้สาธารณะช่วงก่อนโควิดไทยอยู่ที่ 40%ต่อจีดีพี ขณะที่ปี 2563 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 47%ต่อจีดีพีและจะเพิ่มเป็น 57% ต่อจีดีพีในปี 2564

สำหรับวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจในส่วนของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะทยอยอนุมัติโครงการและจัดสรรเงินลงในระบบเศรษฐกิจเป็นระยะ โดยหลังจาก ครม.อนุมัติกรอบวงเงินไปแล้ว 9.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 4 จะมีการอนุมัติเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท และในไตรมาสที่ 1–2 ของปี 2564 อีกไตรมาสละ 1 แสนล้านบาท จะทำให้มีเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นระยะ

160069480274

ในขณะที่เมื่อเศรษฐกิจเจอผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 7.3–7.8% ซึ่งการที่ติดลบมากในปีนี้เป็นในทิศทางเดียวกับแทบทุกประเทศในโลก แต่ไทยต้องพยายามที่จะลุกให้ไวคือฟื้นตัวให้ได้เร็ว 

สำหรับการติดตามประเมินผลหลังจากประกาศใช้แผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 มาเป็นระยะเวลา 4ปี พบว่าไทยขยับเข้าใกล้การบรรลุผลเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่วางไว้หลายข้อ เช่น การรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ย3% ในช่วงที่ก่อนเจอผลกระทบจากโควิด-19

ส่วนการว่างงานที่ปกติไทยมีอัตราการว่างงาน1% ของจำนวนผู้มีงานทำ หรือ400,000 คน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สัดส่วนแรงงานว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 2% อยู่ระหว่าง 750,000-800,000 คน แต่ยังมีแรงงานที่รับความช่วยเหลือจากประกันสังคมและสวัสดิการแรงงานที่ให้ความช่วยเหลือกรณีว่างงานอยู่1.7 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงอาจจะว่างงานได้

ขณะที่ตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศช่วงครึ่งแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เช่น ขีดความสามารถในการแข่งขันตามการจัดอันดับของ IMD จัดอันดับให้ไทยอยู่ช่วง 27–29 อันดับ 3 ของอาเซียน โดยเรายังไม่สามารถขยับเป็นที่ 2 ของอาเซียนแทนที่มาเซียได้

ส่วนรายได้ต่อหัวประชาชนเฉลี่ยใกล้เคียง 8,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ใกล้คียงเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งกำหนดรายได้เฉลี่ย 8,200 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี

ทั้งนี้ การกระจายรายได้ของเรายังมีปัญหามากพบว่าช่องว่างรายได้สำหรับคน 10%ที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้สูงกว่าคนที่มีรายได้ต่ำสุด 20 เท่า และสัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นโดยในปี 2561 สัดส่วนคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนอยู่ที่ 9.85% หรือคนจนมี 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านคนจากปี 2560 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2560–2561 มีสัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ไทยเจอปัญหาจากเทคโนโลยีดิสรับชั่น สงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกตกต่ำ