'ไพบูลย์' ฉุน 'ชวน' ขวางญัตติค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ

'ไพบูลย์' ฉุน 'ชวน' ขวางญัตติค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"ไพบูลย์" ฉุน "ชวน" ขวางญัตติค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้าน "เลขาสภา" แจงส่งศาลรธน.ไม่ได้

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.63  ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังไม่บรรจุวาระญัตติขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 4 ญัตติ ของฝ่ายค้านว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีการลงชื่อซ้ำกัน ว่าประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจวินิจฉัยที่จะไม่บรรจุญัตติดังกล่าวของตนเข้าสู่วาระ เพราะการวินิจฉัยว่า 4 ญัตติของพรรคฝ่ายค้านขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมรัฐสภา และไม่มีตรงไหนที่เป็นอำนาจของประธานรัฐสภา หรือผู้ใดที่จะมาวินิจฉัยก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐสภาก็ต้องบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุม ซึ่งเป็นอำนาจของที่ประชุมว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

“เท่าที่ทราบเหตุผลที่ยังไม่บรรจุญัตติในวาระ เป็นเพราะทีมงานหน้าห้องประธานรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองดึงเรื่องเอาไว้ ทั้งที่ญัตติของฝ่ายค้านยื่นในวันเดียวกับที่ผมเสนอคือวันที่ 16 ก.ย. แต่ของฝ่ายค้านกลับได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ผมรู้สึกติดใจ และไม่สามารถอ้างได้ว่า เหตุผลที่บรรจุล่าช้าเป็นเพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพราะกรณีของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติในวันเดียวกับผม มีผู้เข้าชื่อมากกว่า 100 คนแต่กลับได้รับการบรรจุ แต่ของผมมีผู้เข้าชื่อเพียง 45 คนเท่านั้น และเรื่องนี้ผมดำเนินการตามข้อบังคับตามกฎหมาย จะมาหยุดญัตติของผมได้ก็ต้องด้วยกฎหมายเท่านั้น ถ้ามาหยุดโดยวิธีอื่นก็จะมีปัญหา ดังนั้นในวันที่ 23 ก.ย. ผมจะขอถามเหตุผลการไม่บรรจุญัตติดังกล่าวจากประธานรัฐสภา โดยจะใช้ข้อบังคับการประชุม ข้อ 32(1)และ(2) คือเรื่องที่้องปรึกษาหารือ และต้องเปลี่ยนวาระด้วย เพราะเห็นว่าวาระ 4 ญัตติของฝ่ายค้านมีปัญหาที่ต้องตรวจสอบว่าต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ส.ว.ตั้งข้อสังเกตถึงการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ทั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรครวมรัฐบาลเห็นตรงกันว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่มีการทำประชามติก่อนนั้น ตนมองว่ากรณีนี้เป็นข้อห่วงใยของทาง ส.ว. แต่ก็ต้องมาพิจารณากันว่ามีปัญหาจริงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องที่มองได้หลายมุม ซึ่งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอไป กรณีนี้ทำตามเงื่อนไขของมาตรา 256 ที่ต้องทำประชามติอยู่แล้ว

ด้าน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวยืนยันว่า ญัตติของนายไพบูลย์ ได้ถูกตีตกแล้ว ไม่สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 156 ของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ ตามที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาได้มีความเห็นเสนอไปยังประธานรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 156 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดเงื่อนไขการประชุมรัฐสภา มีทั้งหมด 11 วงเล็บ พบว่า ไม่มีข้อใดที่ระบุให้รัฐสภาพิจารณาญัตติ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องใดที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ