สรรพสามิตเล็งยืดยกเว้นภาษีน้ำมันเครื่องบิน

สรรพสามิตเล็งยืดยกเว้นภาษีน้ำมันเครื่องบิน

สรรพสามิตพร้อมพิจารณาต่ออายุ​ 6 เดือนยกเว้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงให้ธุรกิจการบินโลว์คอสต์​ ระบุ​ ธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบตรงจากโควิด-19​ ทำให้เหลือเที่ยวบินเพียง20%

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า​ กรมฯพร้อมพิจารณาผ่อนปรนหรือขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินให้กลุ่มธุรกิจการบินโลว์คอสต์​จากเดิมที่จะสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีดังกล่าวในสิ้นปีงบประมาณหรือสินเดือนก.ย.นี้​ เนื่องจาก​ มองว่า​ ผู้ประกอบการดังกล่าวได้รับผลกระทบทางตรงจากสถานการณ์โควิด-19​ ทำให้ต้องลดเที่ยวบินในประเทศเหลือเพียง​ 20%ของไฟล์ทบิน​ อย่างไรก็ดี​ หากจะต้องขยายระยะเวลาผ่อนปรนออกไปนั้น​ เราจะพิจารณาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง​หรือราว​ 6 เดือน​ เพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบเป็นระยะๆ

สำหรับผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯนั้น​ เขากล่าวว่า​ ตามปกติแล้วการจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน​จะมีจำนวนไม่มากนัก​ หรือราว​ 1 พันล้านบาทต่อปี​ หากต้องขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีดังกล่าวออกไป​ ก็จะไม่กระทบรายได้กรมฯมากนัก

"ธุรกิจโลว์คอสนั้น​ ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ​ ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือ​ ก็เท่ากับว่า​ จะช่วยส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศเช่นกัน​ แต่ระยะเวลาการยกเว้นภาษีนั้น​ เราจะดูตามข้อเท็จจริงของผลกระทบ"

ส่วนการช่วยเหลือสภาพคล่องธุรกิจสายการบิน ภายในต.ค.นี้ ธนาคารออมสิน ได้เตรียมวงเงินซอฟท์โลน ปล่อยกู้ผ่านธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)​ อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 60 เดือน​ เสนอ ครม.พิจารณาในเร็วๆนี้ เนื่องจากเห็นว่า การท่องเที่ยวยังเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงปัญหาไวรัสโควิด

สำหรับแผนการจัดเก็บภาษีสินค้าตัวใหม่​ โดยเฉพาะภาษีความเค็ม​ หรือ​ การขึ้นอัตราภาษีในบางสินค้า​นั้น​ เขากล่าวว่า​ กรมฯอยู่ระหว่างการศึกษา​ แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19​ ทำให้กรมฯต้องชะลอการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไป

"ต้องยอมรับว่า​ ภาษีสรรพสามิต หากสูงมากเกินไป จะเป็นดาบสองคม​ อาทิ​ จะทำให้มีการลักลอบนำเข้าตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน​ และในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้​ การขึ้นภาษีหรือเก็บภาษีสินค้าใหม่ๆจะเป็นการซ้ำเติมผู้ผลิตและประชาชน"

ด้านผลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในรอบ 11 เดือน (ต.ค. 62 – ส.ค. 63) ยอดรวม 5.03 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 3.5​ หมื่นล้านบาท หรือ 6.53% รายได้ภาษีจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 2.06 แสนล้านบาท 2.ภาษีรถยนต์ 7.77 หมื่นล้านบาท 3.ภาษีเบียร์ 7.33 หมื่นล้านบาท 4.ภาษีสุรา 5.66 หมื่นล้านบาท 5. ภาษียาสูบ 5.81 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้​ กรมฯประเมินว่า​ ทั้งปีงบประมาณยอดจัดเก็บรายได้จะอยู่ที่​กว่า​ 5.2​ แสนล้านบาท​ สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้​ 5.01 แสนล้านบาท​ โดยภาษีที่จัดเก็บได้ดี​ คือ​ ภาษีรถยนต์​ เป็นผลจากการเปลี่ยนโมเดลรถยนต์ ในหลายรุ่น​ ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขาย​ และยังทำให้ภาษีน้ำมันปรับขึ้นตามไปด้วย​ ขณะเดียวกัน​ หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ทำให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตมากขึ้น​ ส่วนปีงบประมาณ 64 กรมฯได้รับเป้าหมายที่ 5.34 แสนล้านบาท หากไม่มีเหตุการณ์ปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบอย่างรุนแรง เชื่อว่า​ จะเป็นไปตามเป้าหมาย