‘เอเชียทีค’ชู 3 แม่เหล็กใหม่ ฟื้นยอดลูกค้าไทยฝ่าพายุโควิด

‘เอเชียทีค’ชู 3 แม่เหล็กใหม่  ฟื้นยอดลูกค้าไทยฝ่าพายุโควิด

วางฤกษ์กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 15 ต.ค.2563 สำหรับ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” จุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยวของ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” หรือ AWC ใต้ปีกทีซีซีกรุ๊ป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

เพื่อกลับมารองรับนักท่องเที่ยวไทย หลังเอเชียทีคฯต้องปิดดำเนินการชั่วคราวทั้งโครงการเมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบจากพายุลูกใหญ่โควิด-19

วัลลภา ไตรโสรั ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า เอเชียทีคฯเปิดให้บริการมากว่า 8 ปี พอเจอวิกฤติโควิด จึงใช้โอกาสนี้ปรับปรุงโครงการไปในตัว พร้อมปรับคอนเซ็ปต์ใหม่เป็น Heritage Alive สะท้อนเรื่องราวชีพจรทางเศรษฐกิจของพื้นที่ที่ตั้งของเอเชียทีคฯซึ่งตั้งอยู่บนย่านเก่าแก่ถนนเจริญกรุง ถนนสายแรกของกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันได้พัฒนา “3 ไฮไลต์ใหม่” เติมเต็มความเป็นจุดหมายปลายทางระดับเอเชีย ด้วยการเปิดตัว “เรือสิริมหรรณพ” แลนด์มาร์คใหม่ริมน้ำเจ้าพระยา รองรับได้ 300 คน สร้างจากต้นแบบเรือใบสามเสาลำสุดท้ายในราชการกองทัพเรือซึ่งถือเป็นเรือแห่งประวัติศาสตร์ที่นำพาความรุ่งเรืองจากโพ้นน้ำตะวันตกมาสู่ผืนดินสยาม ได้รับการออกแบบให้เป็นห้องอาหารระดับพรีเมียมภายใต้การบริหารของโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ในเครือแอสเสทเวิรด์ฯ

“เดิมเอเชียทีคฯตั้งใจให้เรือสิริมหรรณพเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด ใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ระยะเวลาต่อเรือและตกแต่งรวมอยู่ที่ 2 ปีกับอีก 8 เดือน”

นอกจากนี้ยังมี Living Museum & Art Festival พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ผ่านเส้นทาง The Memory Lanes ย้อนรอยผ่านกาลเวลาเพื่อร่วมสัมผัสวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในอดีต และการจัดแสดงผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบกระจายตามโซนต่างๆ ถึง 36 จุด ทั้งภาพวาด สตรีทอาร์ต ประติมากรรม และอื่นๆ

อีกไฮไลต์คือ New Mega Riverside F&B Destination ยกระดับเป็นศูนย์กลางแห่งการกินดื่มนานาชาติแห่งใหม่ที่มีให้เลือกหลากหลายครบทุกสไตล์ จากเดิมมี 40 กว่าร้านอาหาร ล่าสุดเอเชียทีคฯได้ผนึกความร่วมมือกับ “ครัวคุณต๋อย” แพลตฟอร์มของสื่อด้านอาหารและเครือข่ายร้านอาหารชั้นนำที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ โดยไตรภพ ลิมปพัทธ์ พิธีกรแถวหน้าของเมืองไทย ตั้งเป้าร้านอาหารในเครือข่ายครัวคุณต๋อยเป็นแม่เหล็กใหม่ดึงลูกค้าคนไทย และจะต่อยอดโมเดลนี้ไปที่ตะวันนา บางกะปิด้วย

เมื่อรวมงบลงทุนทั้ง 3 ไฮไลต์ใหม่และปรับปรุงส่วนอื่นๆ ของโครงการเอเชียทีคฯรอบนี้อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท โดยแอสเสทเวิรด์ฯคาดหวังว่าการเติมแม่เหล็กใหม่เหล่านี้จะช่วย “เพิ่มทราฟฟิก” มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่เอเชียทีคฯหมุนเวียน 2-3 หมื่นคนต่อวันในช่วงสุดสัปดาห์ จากภาวะปกติเคยได้ 5 หมื่นคนต่อวัน

วัลลภา เล่าเพิ่มเติมว่า แม้วิกฤติโควิดจะพรากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งประเทศไทยพึ่งพารายได้จากตลาดนี้สูง แต่แอสเสทเวิรด์ฯยังคงเชื่อมั่นว่าในระยะยาวภาคการท่องเที่ยวไทยซึ่งอยู่ในตัวเลือกจุดหมายอันดับต้นๆ ของโลกจะกลับมาเติบโต เป็นอนาคตที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

การปรับแผนธุรกิจของแอสเสทเวิรด์ฯในช่วงนี้ จึงต้องเน้นเรื่อง “Timing” รอจังหวะการลงทุนและเปิดให้บริการโครงการโรงแรมใหม่อย่างเหมาะสม เพราะไม่อยากให้กระทบต่อซัพพลายปัจจุบัน อย่างเช่น บันยันทรี กระบี่ วางกำหนดเปิดเดิมคือไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่ต้องชะลอขยับไปเปิดวันที่ 24 ต.ค.นี้แทน

พร้อมทบทวนเกี่ยวกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตามแผน 5 ปีของบริษัทฯให้สอดรับกับนโยบายการเปิดประเทศอย่างจำกัดของรัฐบาลเป็นหลัก เพราะมองว่านักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มจะมีไทม์มิ่งหรือความพร้อมในการกลับมาเที่ยวไทยที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเดินทางกลุ่มประชุมสัมมนา กลุ่มธุรกิจ หรือกรุ๊ปทัวร์ นอกจากนี้การรับรู้ (Perception) ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มครอบครัวก็จะเปลี่ยนไป หันมาใส่ใจกับมาตรฐานสุขอนามัยมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบตรงจุดนี้ หลังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้ดี มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก

“มองว่าช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ยังต้องดำเนินการเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยช่วงต้นปี 2564 จะเริ่มเห็น Positive Shift ที่ดีขึ้น ส่วนจะกลับมาเป็นปกติเหมือนปี 2562 เมื่อไรนั้น ประเมินว่าน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปีหน้า”

และแน่นอนว่าโรงแรมในเครือแอสเสทเวิรด์ฯทุกแห่งจะต้องมีการใส่คุณค่าด้านการดูแลสุขภาพ (Wellness) เพิ่ม เช่น โปรแกรมดูแลสุขภาพ ตรวจสุขภาพ ปรึกษาแพทย์ทางไกล และลูกค้าออกแบบมื้ออาหารเพื่อสุขภาพได้เอง โดยจะร่วมพัฒนาโปรแกรมเหล่านี้กับรีสอร์ตเพื่อสุขภาพแบรนด์ดังและโรงพยาบาลชั้นนำของไทย ควบคู่ไปกับการอาศัยจุดแข็งของแอสเสทเวิรด์ฯด้านขนาด (Scale) เครือข่าย และความยูนีคของโครงการต่างๆ