ปลุก '14 ต.ค.' ผุดม็อบรอบใหม่

ปลุก '14 ต.ค.' ผุดม็อบรอบใหม่

ยื่น 3 ข้อเรียกร้องถึงองคมนตรี พร้อมย้ำจุดยืน 10 ข้อ เสนอแนวปฏิบัติประชาชน 8 ข้อ ก่อนนัดรอบใหม่ชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาฯ ขณะที่ฝ่ายเกี่ยวข้องจ่อแจ้งความเอาผิด จับตาถูกร้องล้มล้างการปกครองซ้ำ

การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หัวข้อ “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ยุติลงในช่วงสายวานนี้(20ก.ย.) หลังจากชุมนุมต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 19 ก.ย. โดยตั้งเวทีปราศรัยใหญ่กลางสนามหลวง โดยความเคลื่อนไหวของแกนนำในวันที่สองนี้ ไม่มีการเคลื่อนมวลชนไปยังทำเนียบรัฐบาลตามที่แกนนำได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ได้แต่ประกาศบิ๊กเซอร์ไพร์สว่า จะไม่ไปยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล ตามกำหนดการเดิม แต่จะส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือ 3 ข้อเรียกร้อง และ 10 ข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ถึงประธานองคมนตรี โดยสันติวิธี

   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ที่เวทีสนามหลวงในเวลา 07.00 น. แกนนำซึ่งประกอบด้วย ทนายอานนท์ นำภา ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งตัวแทนแนวร่วมจากกลุ่มต่างๆ ได้ทำพิธีปักหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 ขนาด 11.6 นิ้ว ซึ่งทำจากทองเหลือง ซึ่งมีข้อความว่าประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งผอง

บริเวณด้านหน้าเวที โดยเจาะพื้นซีเมนต์ปักหมุดทองเหลือง 11.6 นิ้ว และอ่านแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 2 พร้อมทั้งชู 3 นิ้ว

 จากนั้นแกนนำได้พามวลชนออกจากสนามหลวง เพื่อมุ่งหน้าไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง 1.ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี และกลุ่มเครือข่ายผลประโยชน์ที่ถูกแต่งตั้งมาโดย คสช. ลาออกทั้งหมด 2.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจะต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต้องร่างใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา  3.ปฏิรูปสถาบัน ตามแนวทางที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เรียกร้อง 10 ข้อ

ในเวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่ได้ตรึงกำลังสกัด ตั้งแต่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน ทำให้ น.ส.ปนัสยา ได้เข้าไปเจรจาขอเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเดินไปยังวัดพระแก้ว ซึ่ง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) ได้เป็นแทนเจรจา จนกระทั่ง น.ส.ปนัสยา ได้ยื่นหนังสือผ่าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พร้อมทั้งอ่านข้อเรียกร้องบางส่วน โดย ผบช.น.รับปากว่าจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

 น.ส.ปนัสยา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เราไม่เดินไปทำเนียบรัฐบาล และยุติเพียงเท่านี้ โดยยอมรับว่าก่อนจะเปลี่ยนเป้าหมายจากทำเนียบฯ มาเป็นการยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบองคมนตรีแทนใช้เวลาตัดสินใจนานพอสมควร เข้าใจว่าเป็นข้อจำกัดจริงๆ เพราะเราไม่อยากให้เกิดการปะทะ ไม่อยากให้ใครเจ็บ ต้องดูว่า ผบช.น. จะดำเนินการให้หรือไม่ หากไม่ดำเนินการ คราวหน้าก็เจอกัน จากนั้นแกนนำผู้ชุมนุมได้เดินกลับเข้าไปยังเวทีกลาง และแจ้งว่าจะมีการชุมนุมต่ออีกระยะก่อนจะแยกย้าย

 

ผุด 8 ข้อสู้-ปลุกชุมนุม 14 ต.ค.

ต่อมาในเวลา 09.15 น.นายพริษฐ์ ได้ประกาศแนวทางการต่อสู้ 8 ข้อ โดยเป็นแนวทางให้มวลชนปฏิบัติตามดังนี้ ให้ชู 3 นิ้วเมื่อได้ยินเพลงชาติ ผูกโบขาวไว้หน้ารถเพื่อให้รู้ว่ารักประชาธิปไตย เขียนแผ่นป้ายต่อต้านเผด็จการตามที่ชุมชนต่างๆ รวมถึงเขียนป้ายไม่เอาเผด็จการเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ

“การเคลื่อนไหวต่อไปเราจะไปสังเกตการณ์ การประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐสภาจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ในวันที่ 24 ก.ย. และขอประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ร่วมกันหยุดงานทั้งประเทศ ในวันที่ 14 ต.ค. ทำให้ประเทศเป็นอัมพาตวันเดียว และมาร่วมชุมนุมกับเรา" นายพริษฐ์ กล่าว

จากนั้นในเวลา 9.30น.นายพริษฐ์ กล่าวขอบคุณผู้ชุมนุมที่มาร่วมชุมนุม ขอให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

ทำเนียบเก็บลวดหนาม-แบริเออร์

ส่วนบรรยากาศบริเวณทำเนียบรัฐบาล ภายหลังแกนนำกลุ่มชุมนุมประกาศยุติการชุมนุม ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบฯ ​ได้ทยอยเก็บรั้วลวดหนาม ​และแบริเออร์ ที่วางไว้บริเวณที่จอดรถภายในทำเนียบฯ ตลอดแนวถนนลูกหลวง เลียบคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่บริเวณประตู 6 ซึ่งใกล้กับสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปถึงประตู 8 ใกล้สะพานอรทัย

ตร.เก็บหลักฐานภาพวงจรปิดเอาผิด

 ทางด้านตำรวจได้แถลงผลการปฏิบัติงานการชุมนุม โดย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น.

ระบุว่า การปักหมุดคณะราษฎร จำนวน 2 หมุดที่ท้องสนามหลวงนั้น สนามหลวงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ที่มีกรุงเทพฯ และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานนี้ต้องหารือการดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งทางตำรวจตรวจสอบแล้วเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย

ส่วนการชุมนุมครั้งนี้จะมีการเอาผิดกับผู้ชุมนุมหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่ได้บันทึกภาพหลักฐานชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องนำมาพิจารณาจากภาพว่า ใครทำอะไรผิดบ้าง ทั้งในเรื่องการชุมนุมไม่แจ้งล่วงหน้า การปักหลักค้างคืนเกินเวลาที่กำหนด

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่าการบุกรุกสนามหลวง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ ยังมีการขุดพื้นที่เพื่อฝังหมุด โดยทางกรมศิลปากรจะเข้าแจ้งความในวันที่ 21 ก.ย.นี้

ขณะที่มีรายงานว่า การชุมนุมครั้งนี้ จะมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเอาผิดแกนนำ กรณีไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 

ปธ.สถาบันปรีดีตั้งทีมช่วยสู้คดี

ขณะที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า การยุติการชุมนุมเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงและการรัฐประหาร เป็นการแสดงให้ความเห็นอย่างชัดเจนว่าแกนนำยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีอย่างเคร่งครัด ไม่เคลื่อนไหวสุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการสถาบันจะจัดตั้ง คณะทำงานเพื่อช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และจะออกแถลงการณ์เป็นระยะๆ เพื่อมีส่วนในการช่วยทำให้สถานการณ์ไม่ถลำลึกสู่วิกฤตการณ์รุนแรง และนำไปสู่การเจรจาหารือ สานเสวนาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศและประชาชนได้

สภาจ่อถก3ฝ่ายวางกรอบแก้รธน.

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย วิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ก.ย.จะมีการหารือวิป 3 ฝ่าย รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.กำหนดรูปแบบการพิจารณาอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นจะเสนอให้พิจารณาอภิปรายแสดงความเห็นรวมกันได้ทุกญัตติ แต่ในการลงมติจะให้แยกพิจารณาลงมติเป็นรายมาตรา

โดยในวันที่ 23 ก.ย. จะให้อภิปรายญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติ ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตั้งส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เมื่ออภิปรายครบแล้ว ก็ให้ลงมติจะรับหลักการวาระแรกหรือไม่ โดยใช้วิธีการขานชื่อรายบุคคล จะให้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนตอบในครั้งเดียวเลยว่า จะรับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และรับญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ เพื่อประหยัดเวลา ไม่ต้องขานชื่อลงมติ 2 ครั้ง