'สมชัย' ไม่เห็นด้วยข้อความ-วิธีการ ปักหมุดราษฎรครั้งที่สอง

'สมชัย' ไม่เห็นด้วยข้อความ-วิธีการ ปักหมุดราษฎรครั้งที่สอง

"สมชัย" ไม่เห็นด้วยข้อความ-วิธีการ ปักหมุดราษฎรครั้งที่สองที่พื้นสนามหลวง เชื่อ "ชุมนุม 19 กันยา" กดดัน "แก้ไขรัฐธรรมนูญ"

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.63 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า

ความเห็นต่อการชุมนุม คืน 19 ต่อ 20 กันยายน 2563 

1. มวลชนมีจำนวนมาก และยืนหยัดอยู่ตลอดคืน ทั้งๆที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย  ส่วนการประมาณจำนวนนั้นมีการให้ข้อมูลแตกต่างกันตามภูมิหลังของผู้รายงาน ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญที่ต้องใส่ใจ  แต่การมีมวลชนที่แสดงตัวเห็นต่างจากรัฐจำนวนมากเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงมีท่าทีรับฟัง  มิใช่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ และใช้ทุกช่องทางตามกฎหมาย เพื่อจับกุมคุมขังประชาชน

2. เนื้อหาคำปราศรัย ยังเป็นความคับข้องใจในเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้ปราศรัยแต่ละคนมีทัศนคติในมุมมองของเขา มีประเด็นที่ไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่  การทำหน้าที่ของ ส.ว.หรือสิ่งเฉพาะหน้าคือ การประชุมของรัฐสภาในวันที่ 23-24 ก.ย. เพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสัดส่วนค่อนข้างน้อย 

3. ท่วงทำนองการปราศรัย มีหลากหลาย ทั้งสุภาพ เป็นเหตุผล และก้าวร้าวใช้อารมณ์ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสไตล์ของผู้ปราศรัย

4. ความหวาดวิตกอย่างที่หนึ่งคือ ข่าวการสลายการชุมนุมในเวลาสี่นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ชุมนุมอ่อนเพลียสุด ไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ต้องขอบคุณผู้มีอำนาจ ที่ไม่คิดสั้น 

5. การปักหมุดราษฎรครั้งที่สองในเวลาย่ำรุ่ง อาจสร้างความฮีกเหิมให้แก่ผู้ชุมนุม  แต่มิได้เป็นประโยชน์ กลับอาจมีผลเสียต่อขบวนการ ทำให้ผู้ชุมนุมติดภาพ "ล้มเจ้า" เป็นประเด็นโจมตีต่อเนื่อง และบดบังภารกิจสำคัญที่เป็นข้อเสนอหลัก คือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน และยุติการสืบทอดอำนาจของคณะทหาร

ความเห็นต่อการชุมนุม เช้า 20 ก.ย. 2563

1.  ผู้ชุมนุมในช่วงเช้า น่าจะอยู่ที่ไม่เกินหมื่นคน เป็นกลุ่มที่ยืนหยัดค้างคืน  ถือเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ไม่สามารถเป็นภาพที่สวยงามมีพลัง แบบ 14 ตุลา 2516  ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขจำกัดหลายประการ

2. การประกาศบนเวทีของผู้นำการชุมนุม ที่เปลี่ยนเส้นทางจากทำเนียบรัฐบาล ไปยังที่ใหม่ที่ไม่ได้ชี้แจงชัดเจน  เป็น นาทีที่สุ่มเสี่ยงและน่าเป็นห่วงที่สุด 

3. จังหวะของการเจรจา เพื่อขอให้ตัวแทนเข้าไปมอบหนังสือให้แก่ประธานองคมนตรี  ต้องชมกลุ่มผู้ชุมนุมที่รักษาความสงบของสถานการณ์ได้ดี

4. ผู้คลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมที่ต้องชื่นชม 2 คน คือ น้องรุ้ง นศ.ธรรมศาสตร์  ที่โดดเด่น กล้าหาญ กล้าตัดสินใจอย่างฉลาด เพื่อให้สถานการณ์ยุติ  และ ผบ.ตำรวจนครบาล ที่รับเป็นผู้รับหนังสือ 

5. การนำการปราศรัยของผู้นำการชุมนุม  ควรต้องทบทวนทั้งเนื้อหา และท่าทีที่รุนแรง ก้าวร้าว และขาดการเคารพถึงศักดิ์ศรีบุคคลอื่น  ควรนำเสนอด้วยเหตุผล ด้วยท่าทีที่สุภาพ  ไม่มีความจำเป็นต้องก้าวร้าว

6. ผลของการชุมนุม อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ผู้มีอำนาจตระหนักในความคิดของประชาชน และ น่าจะมีผลต่อการลงมติของวุฒิสภาในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23-24 กันยายนนี้  แต่หากยังไม่ตระหนัก  ฝ่ายที่มีอำนาจอาจเสียหายมากกว่าเดิม