การเมืองสหรัฐร้อนแรงจับตาผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่

การเมืองสหรัฐร้อนแรงจับตาผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่

การเมืองสหรัฐร้อนแรงจับตาผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ โดยโจ ไบเดน มีความเห็นว่าชาวอเมริกันควรเลือกประธานาธิบดีก่อนจากนั้นประธานาธิบดีจึงเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดให้วุฒิสภาพิจารณา

การเสียชีวิตของ‘รูธ กินส์เบิร์ก’ผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐ ด้วยโรคมะเร็งในวัย 87 ปีเมื่อวันศุกร์ (18ก.ย.)ทำให้เกิดประเด็นการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดแทนเธอและกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงของสหรัฐในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 3 พ.ย.นี้

ล่าสุด “มิทช์ แมคคอนเนล”ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ บอกว่าจะเฟ้นหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาทำหน้าที่ผู้พิพากษาศาลสูงแทนกินส์เบิร์ก และให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรับรอง แต่แมคคอนเนล ไม่ได้บอกกำหนดเวลา รวมทั้งไม่ได้พูดชัดว่าจะหาบุคคลดังกล่าวให้ได้ก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.

อย่างไรก็ตาม รีพับลิกันครองเสียงข้างมากแค่ 53-47 เสียงในสภาสูงและการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูง มีโอกาสที่จะไม่ผ่านการโหวตแบบเด็ดขาดในช่วงที่ใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดี

ผู้พิพากษากินส์เบิร์ก หนึ่งในองค์คณะตุลาการ 9คนในศาลสูงสุดสหรัฐ เป็นผู้พิพากษาสายเสรีนิยมที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีบิลล์ คลินตันเมื่อปี 2536 การเสียชีวิตของเธอ ทำให้ศาลซึ่งเหลือองค์คณะตุลาการ8คนมีเวลาไม่กี่สัปดาห์ก่อนเริ่มการทำงานเทอมใหม่และมีความเป็นไปได้สูงว่าความสมดุลด้านอำนาจของศาลสูงสุดอาจเปลี่ยนไปอยู่ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม

กินส์เบิร์ก ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและเป็นเสาหลักด้านกฎหมายคนหนึ่งของฝ่ายเสรีนิยม ทั้งยังได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลสำคัญด้านสิทธิเสรีภาพของสตรี พยายามต่อสู้กับโรคมะเร็งหลายครั้งตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

เธอคือหญิงแกร่ง ผู้มีบทบาทสำคัญในการลุกขึ้นมาต่อสู้-เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นต้นแบบของเสรีภาพและประชาธิปไตย จนทำให้เธอกลายเป็นไอคอนชื่อดังแถวหน้าในสังคมอเมริกัน หลายคดีที่เธอใช้ความสามารถและกำลังที่มีอยู่ต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรี จนส่งผลให้ศาลยอมแก้กฎหมายให้ความคุ้มครองเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ อีกทั้งเธอยังเป็นหัวหอกในการผลักดันให้เกิดการแต่งงานของเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมายใน 50 รัฐของสหรัฐด้วย

​ ด้านคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว คาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะเสนอชื่อผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทนกินส์เบิร์กโดยเร็ว แต่ส.ส.พรรคเดโมแครต มีความเห็นว่า ไม่ควรมีการเสนอชื่อใครในตอนนี้ แต่ควรรอให้เสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดี วันที่ 3 พ.ย.ไปก่อน รวมถึง“โจ ไบเดน”ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีกับทรัมป์ และกำลังอยู่ระหว่างรณรงค์หาเสียงในรัฐมินเนโซตา กล่าวว่า ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ควรเลือกประธานาธิบดีก่อน และประธานาธิบดีก็เสนอผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดให้วุฒิสภาพิจารณา

วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนที่ถูกมองว่าเป็นตัวเต็งได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดครั้งนี้ รวมถึง วุฒิสมาชิกซูซาน คอลลินส์ จากรัฐเมน และวุฒิสมาชิกลิซา เมอร์โควสกี้ จากรัฐอลาสกา ที่ออกแถลงการณ์ยกย่องผลงานของผู้พิพากษากินส์เบิร์ก โดยไ่่ม่ได้พูดถึงกระบวนการเสนอชื่อผู้พิพากษาคนใหม่ แต่เมอร์โควสกี้ เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่าเธอจะไม่ตอบรับหากมีการเสนอชื่อเธอให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพาษาที่ว่างลงในปีนี้

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เสนอให้แต่งตั้งผู้พิพากษา2คนร่วมในองค์คณะตุลาการศาลสูงสุด คือ ผู้พิพากษานีล กอร์ซัช และผู้พิพากษาเบรทท์ คาวานาฟ โดยผู้พิพากษาทั้ง2คนได้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนผู้พิพากษาหัวเสรีนิยม2คนและหากทรัมป์เสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทนกินส์เบิร์ก พรรครีพีบลิกันก็จะสมหวังในสิ่งที่เพียรพยายามมานานหลายทศวรรษ นั่นคือการครองเสียงข้างมากของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในศาลสูงสุดเป็น 6-3 จาก 5-4

ถ้าท้ายที่สุด ประธานาธิบดีทรัมป์ประสบความสำเร็จในการแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้วจริง จนส่งผลให้ศาลสูงสุดของสหรัฐกลายเป็นศาลอนุรักษ์นิยมเต็มตัว ผลพวงที่ตามมาคือ การต่อสู้ทางการเมืองในสหรัฐจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากปัจจุบัน ที่แนวทางสำคัญในการต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม คือการให้ความสำคัญกับการต่อสู้คดีในศาลสูงสุด เพื่อสร้างบรรทัดฐานคุ้มครองสิทธิและป้องกันการที่เสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายละเมิดสิทธิของคนกลุ่มน้อยในสังคม

แต่ในอนาคต หากศาลสูงสุดเป็นศาลอนุรักษ์นิยมที่ชาวอเมริกันพึ่งพาไม่ได้ แนวทางการต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมคือหันไปเน้นการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและความเชื่อของคนหมู่มากในสังคมแทน ด้วยความหวังว่าจะได้ผู้แทนที่มีแนวคิดเสรีนิยม หรือกดดันให้ผู้แทนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมไม่ละเมิดบรรทัดฐานเดิมที่ศาลสูงสุดเคยทำไว้