'ลานีญา' โอกาสสุดท้ายเติมน้ำเข้า 'เขื่อน' ใช้ปีหน้า

'ลานีญา' โอกาสสุดท้ายเติมน้ำเข้า 'เขื่อน' ใช้ปีหน้า

จากการพยากรณ์ล่าสุดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งทั่วโลก คาดว่าจะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาช่วง ต.ค.2563-ต้นปี 2564 จึงอาจเป็นโชคดีของไทย สถานการณ์ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรในปี 2564 น่าจะดีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อบางอุตสาหกรรม นับเป็นโอกาสของนักลงทุนเช่นกัน

ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ, ภาคกลาง, และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายแห่งยังน่ากังวล โดยบางแห่งมีปริมาณน้ำกักเก็บในปริมาณที่ต่ำกว่าปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งถือเป็นโชคร้ายของประเทศไทยที่ในปี 2562 แม้จะไม่มีปรากฏการณ์พิเศษที่ทำให้เกิดภัยแล้งอย่าง ปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ฝนที่ตกในฤดูฝนปี 2562 กลับไม่เข้าเขื่อน ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในปี 2563 กระทบต่อภาคการเกษตร

และหากปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่องเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2563 ก็อาจจะเป็นข่าวร้ายต่อภาคการเกษตรของไทยในปี 2564 ที่ยังต้องเผชิญภัยแล้งต่อเนื่องอีกปีก็เป็นได้

อย่างไรก็ดีจากการพยากรณ์ล่าสุดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งทั่วโลก อาทิ Climate Prediction Center ของสหรัฐ และกรมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย สอดคล้องกันคือ คาดจะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในช่วง ต.ค.นี้จนถึงต้นปี 2564

ปรากฏการณ์ลานีญา คือ ปรากฏการณ์ที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในภูมิภาคเอเชียสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติ และมีโอกาสที่จะทำให้อุณหภูมิในภูมิภาคเอเชียลดต่ำลงกว่าปกติเช่นกัน ในทางกลับกันปริมาณน้ำฝนในทวีปอเมริกาจะกลับลดลงจนอาจเกิดภัยแล้งได้ ซึ่งตัวอย่างปรากฏการณ์ลานีญาครั้งรุนแรงที่ผมเชื่อว่าคนไทยยังจำกันได้คือ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554

ซึ่งในช่วงนั้นเกิดปรากฏการณ์ลานีญาครั้งรุนแรงในปี 2553-55 จึงอาจเป็นโชคดีของไทย หากการเกิดปรากฏการณ์ลานีญาทันช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูฝนคือเดือน ต.ค. หากไม่โชคร้ายจนเกินไปนักเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2563 คือฝนตกไม่เข้าเขื่อน สถานการณ์ปริมาณน้ำสำหรับการทำการเกษตรในปี 2564 น่าจะดีขึ้นหากเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีบางพื้นที่อาจจะเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมจากปริมาณน้ำฝนที่อาจจะมากกว่าปกติได้เช่นกัน

ผลกระทบของปรากฏการณ์ลานีญาต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละอุตสาหกรรม โดยบางอุตสาหกรรมอาจได้ผลเชิงบวก แต่บางอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบเชิงลบ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ อย่าง CKP และ BCPG คาดจะได้รับประโยชน์เชิงบวกจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้า,

ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ อาทิ CPF, GFPT, TFG อาจได้รับผลกระทบด้านลบหากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่าง ถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับขึ้น จากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในฟากฝั่งทวีปอเมริกา (ทั้งเหนือและใต้) เนื่องจากทวีปอเมริกาเป็นแหล่งเพาะปลูกและส่งออกถั่วเหลืองและข้าวโพดหลักของโลก ขณะเดียวกันฝั่งราคาขายเนื้อสัตว์ในประเทศโดยเฉพาะเนื้อหมูที่ปรับขึ้นมากอาจทำให้ภาครัฐต้องเข้ามากำหนดเพดานราคาขาย จึงมีความเสี่ยงที่อัตรากำไรของผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์จะลดลงได้ ในทางกลับกันผู้ผลิตอาหารสัตว์ อย่าง TVO อาจได้อานิสงส์จากราคาถั่วเหลืองที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำกำไรจากสต๊อกถั่วเหลือง,

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและน้ำมันปาล์ม อาจต้องเข้มงวดในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ และบางรายมีโอกาสที่จะทำกำไรจากสต๊อกได้ เนื่องจากราคายางพาราและน้ำมันปาล์มมีโอกาสที่จะปรับขึ้นหากเกิดปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นผิดปกติ (ฝนตกต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง, โอกาสเกิดน้ำท่วมซึ่งจะกระทบต่อผลผลิต เป็นต้น) ทั้งนี้ผมเพียงยกตัวอย่างการวิเคราะห์เบื้องต้นเท่านั้น นักลงทุนและผู้อ่านควรติดตามข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติม

กลับมาที่ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET index ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายังเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway down ตามคาด เนื่องจากไม่มีปัจจัยสนับสนุนด้านบวกใหม่ๆ เข้ามาในตลาดฯ ขณะที่ Valuation เริ่มตึงตัว โดยเฉพาะหากพิจารณาปัจจัยระยะสั้น อย่าง Trailing PE (พิจารณาราคาเทียบกับ EPS รวม 4 ไตรมาสย้อนหลัง) ที่พุ่งขึ้น หลังจากการรายงานผลการดำเนินงาน 2Q63 ที่เริ่มรับรู้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เต็มไตรมาส (ล่าสุด Trailing PE ของดัชนี SET index เท่ากับ 22 เท่า)

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาปัจจัยระยะกลาง - ยาว ร่วมในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน อาทิ Earnings yield gap, Cyclical Adjusted PE (CAPE) เป็นต้น จะพบว่า Earnings yield gap 3.5% และ CAPE ที่ 16 เท่า ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับการลงทุนได้ เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำขณะนี้ และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะต่ำต่อเนื่องในปีหน้า ดังนั้นผมยังคงแนะนำว่าการพักฐานของดัชนี เป็นโอกาสในการซื้อสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานฟื้นตัวได้ในปีหน้า