GISTDA พร้อมผลักดันคนไทย ร่วมโครงการวิจัยอวกาศระดับนานาชาติ

GISTDA พร้อมผลักดันคนไทย ร่วมโครงการวิจัยอวกาศระดับนานาชาติ

GISTDA ย้ำบทบาทการวิจัยวิทยาศาสตร์ระบบโลกและอวกาศ พร้อมจะเปิดโอกาสให้นักวิจัยและบุคลากรไทยเข้าร่วมในโครงการวิจัยระดับนานาชาติ รวมถึงการ Spin-Off หรือจัดตั้ง Start-Up

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง อว. เยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมรับฟังการบรรยายบทบาทภารกิจของ GISTDA โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการ GISTDA และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA พร้อมคณะให้การต้อนรับ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ GISTDA ได้ต้อนรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะ พื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ต้นน้ำและเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอวกาศที่สำคัญของประเทศที่จะช่วยส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศท่ามกลางการแข่งขันในยุคแห่งโลกนวัตกรรม โดยเป้าหมายของ GISTDA คือมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

160053316480

ที่ผ่านมา GISTDA ได้เข้ามามีบทบาทในแวดวงอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขั้นสูงที่เรียกว่าอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ประกอบกับปัจจุบัน GISTDA เองก็มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ บุคลากร และองค์ความรู้ที่พร้อมสำหรับการดำเนินงานทางด้านนี้อยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะก้าวสู่อุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเต็มตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/898631

บทบาทของ GISTDA ต่อภาคอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศเฉพาะในประเทศเท่านั้น เรายังจะยกระดับขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันด้านธุรกิจอวกาศในอนาคตไปสู่ระดับสากลอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ GISTDA ให้ความสำคัญมาโดยตลอดเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการสร้างกำลังคน การสร้างอาชีพ การสร้างรายได้ และวิถีชีวิตใหม่ให้กับสังคมไทย โดยที่นโยบายในการพัฒนาดังกล่าวจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆที่โลกกำลังเผชิญอยู่

ซึ่งก็จะสอดคล้องกับเป้าหมายในการดำเนินงานภายใต้โครงการระบบธีออส-2 ที่จะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดาวเทียม โดยใช้ศูนย์วิจัยและพัฒนาดาวเทียมภายใต้โครงการระบบธีออส-2 ซึ่งมีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล พร้อมให้บริการแก่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและการบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศให้กับประเทศ

160053318185

นอกจาก GISTDA จะเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในส่วนต้นน้ำดังที่กล่าวแล้วข้างต้น GISTDA ยังมุ่งเน้นพัฒนาในส่วนกลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศตามภารกิจที่สำคัญของประเทศอีกด้วย โดยส่งเสริมให้ประชาชน หน่วยงานรัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศเพื่อใช้ประโยชน์ได้สะดวกมากขึ้น ใช้งบประมาณที่น้อยลง หรือแม้กระทั่งเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสักบาทเดียว ในช่วงหลายปีมานี้หลายภาคส่วนยอมรับ GISTDA ในฐานะผู้นำด้านการผลิตข้อมูลและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของ GISTDA ตัวอย่างเช่น ระบบบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อการตัดสินใจแบบองค์รวม หรือ G-MOS เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้ำ เมืองและชุมชน การเกษตร และภัยพิบัติ โดยข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของ GISTDA จะช่วยให้หน่วยงานระดับนโยบายมองเห็นภาพรวมของปัญหาและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงงานวิจัยว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรมอวกาศหรือไม่อย่างไร ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า งานวิจัยถือเป็นอีก 1 งานที่สำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ สัมฤทธิ์ผล และต้องพร้อมที่จะนำไปสู่การใช้งานได้อย่างจริงจังในสังคมไทย โดย GISTDA พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขั้นแนวหน้า ที่เรียกว่า “การวิจัยวิทยาศาสตร์ระบบโลกและอวกาศ” หรือ Earth Space Science Frontier Research & Development & Innovation ที่พร้อมจะเปิดโอกาสให้นักวิจัยและบุคลากรไทยที่สนใจเข้าร่วมในโครงการวิจัยระดับนานาชาติ สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมต่อยอด ทั้งในลักษณะการ Spin-Off หรือจัดตั้ง Start-Up เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของชาติได้ อย่างเช่น การผลิตยารักษาโรคแบบใหม่ที่ต้องอาศัยสภาวะแรงโน้มถ่วงจากอวกาศของทางไบโอเทค หรือการสร้างความปลอยภัยให้กับอวกาศไทย โดยผ่านความร่วมมือในรูปแบบ Space Consortium เป็นต้น

160053319619
จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานในหลายส่วนที่กล่าวมานั้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และความร่วมมือระหว่างประเทศ GISTDA พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็น Active Facilitator ที่สามารถทำงานร่วมกันได้กับทุกภาคส่วนอย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อเชื่อมประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลักดัน Co-creation ในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศชาติที่มีอยู่มากมายหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด