เราเดินได้ ...แต่มันดันเดินไม่ได้นี่สิ 

เราเดินได้ ...แต่มันดันเดินไม่ได้นี่สิ 

"ทางเท้า" เรื่องพื้นฐานที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม เพื่อมอบความปลอดภัยของชีวิตประชาชน แม้ที่ผ่านมาจะเห็นภาพความพยายามพัฒนาเพื่อให้รองรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะทางลาดสำหรับผู้พิการ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาสะท้อนว่าบางครั้งรัฐอาจยังไม่ทำความเข้าใจหรือใส่ใจมากพอ

"เดินได้แล้ว เดินได้แล้ว" เสียงย่าดังลั่นอย่างดีใจเมื่อมีโทรศัพท์มาบอกข่าวดีว่าหลานสาววัยขวบเศษได้เริ่มก้าวเดินแล้ว คนเราทุกคนเมื่อเกิดมาก็ต้องหัดเดิน และเมื่อเดินได้แล้วสองขานั้น ก็พาเราท่องไปในโลกกว้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นการท่องไปที่ไม่ได้ใช้พลังงานฟอสซิล ไม่ปล่อยสารมลพิษ ไม่ปล่อย PM 2.5 และไม่ทำให้โลกร้อน รวมทั้งได้สุขภาพดีมีสุขตามมาอีกด้วย

แต่ไม่รู้ทำไมคนที่บริหารบ้านเมืองของเราตลอดมา จึงทำให้เราซึ่งเดินได้กลายเป็นคนเดินไม่ได้หรือไม่เดิน ยิ่งไทยกำลังจะเป็นสังคมของคนสูงวัยเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปี หากทางเท้าไม่อำนวยให้ สว. เดินได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เขาก็จะกลายเป็น “คนติดบ้าน” ออกทำมาหากินไม่ได้ เป็นภาระแก่ลูกหลานอย่างไม่จำเป็น

สำหรับคนพิการยิ่งแล้วใหญ่ เข็นวีลแชร์ออกมาจากบ้านมาเจอทางเท้าไทยที่ขอบทางเท้าสูงขึ้นไม่ได้ ต้องจำใจเสี่ยงอันตรายไปใช้บนถนน สุดท้ายหลายคนก็เลิกออกจากบ้านเช่นกันกลายเป็นปัญหาสังคมที่เราทุกคนต้องช่วยกันแบกภาระทางอ้อมกันอยู่ทุกวันนี้

มีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง เช่น สมาชิกของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยได้รณรงค์มาตั้งแต่เกือบ 30 ปีก่อน ขอให้รัฐโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครทำทางลาดที่ขอบทางเท้าให้คนพิการเข็นวีลแชร์ขึ้นได้ คนสูงอายุเดินได้ และคนทั่วไปก็เดินได้อย่างสะดวกขึ้น รณรงค์กันอยู่เป็นสิบปี ภาครัฐจึงเริ่มให้ความสนใจบ้าง (ต้องเติมคำว่า "บ้าง" เพราะมันแค่ "บ้าง" จริงๆ) และเริ่มมีการทำทางลาดที่ขอบทางเท้าให้แก่คนกรุงบ้าง

แต่ด้วยความสนใจเพียงแค่ "บ้าง" และด้วยความเข้าใจผิดเห็นว่าเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ เขาจึงเพียงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างลงไปทุบขอบทางเท้าและทำทางลาดขึ้นในบางพื้นที่บางถนน ซึ่งบ่อยครั้งมันใช้ไม่ได้ มันอันตรายต่อการใช้ (ดูภาพที่ 1) จึงทำให้คนยังเดินไม่ได้และไม่เดินต่อไป

160053286863

ภาพที่ 1 ทางลาดที่ขอบทางเท้ามีขอบด้านข้างที่ชันดิ่งซึ่งทำให้พลาดหกล้มได้

แต่กลุ่มคนพวกนั้นก็มิได้หยุดเพียงแค่นั้น ยังเพียรรณรงค์ทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่รัฐ จนในที่สุดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและเริ่มมีการใช้งบประมาณที่มากพอจนทำให้ทางลาดนั้นเริ่มใช้ได้จริง (ดูภาพที่ 2) ซึ่งก็ต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณกรุงเทพมหานครที่ในที่สุดก็ได้เริ่มทำสิ่งดีๆนี้ให้แก่ชาว กทม. แม้จะยังไม่ทั่วเมืองก็ตาม

160053288238

ภาพที่ 2 ทางลาดที่ทางเท้า ที่ทำขึ้นได้อย่างถูกต้อง (ถนนประดิพัทธ์ ก.ค.2563)

ไม่ใช่ว่าได้คืบจะเอาศอกนะครับ แต่เราเห็นว่าสิ่งที่ทำมาดีนั้นยังดีขึ้นได้อีกมาก มากจนจะทำให้คนหันออกมาเดินกันมากขึ้น ซึ่งจะลดปัญหาจราจร ลดปัญหามลพิษได้มากขึ้น ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับตรงที่ถนนบ้านเรามีทางเข้าบ้านเข้าคอนโดฯลฯมากไป ซึ่งนั่นหมายความว่าหากทำแบบเดิมๆ เราก็จะมีช่องที่บากทางเท้าให้บ๋อมลงตรงทางเข้าอาคารนั้นๆ เป็นจำนวนมาก (ดูภาพที่ 3) ซึ่งนั่นหมายความต่อไปว่า คนเดินเท้าต้องเดินขึ้นก้าวลงในทุกๆ ที่ที่มีการบากช่องบ๋อมที่ว่านั้น ซึ่งอย่าว่าแต่คนพิการหรือคนสูงอายุเลย แม้แต่คนหนุ่มสาวปกติที่แข้งขาแข็งแรงก็ยังไม่รู้สึกอยากออกมาเดินบนทางเท้าแบบนี้ 

160053289797

ภาพที่ 3 สังเกตจำนวนหรือความถี่ของช่องที่ทางเท้าบ๋อมลงเพื่อเป็นทางเข้าอาคาร ที่มากเกินไป

สิ่งที่เราอยากเสนอให้ภาครัฐปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีก ให้บ้านเมืองของเราเป็นเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ดังอารยะประเทศ คือการทำให้ทางเท้าของเราเดินได้ราบเรียบและต่อเนื่อง ไม่มีช่องบ๋อมของทางเท้าที่ตรงทางเข้าบ้านแต่ให้รถที่เข้าออกจากบ้านต้องเป็นฝ่ายไต่ขึ้น(ผ่านทางลาด)แล้ววิ่งเข้าบ้าน ซึ่งแน่นอนต้องไม่สะดวกแก่ฝ่ายขับรถ และเมื่อพูดถึงมาตรการแบบนี้ หลายคนคงคิดและนึกในใจว่าเป็นไปไม่ได้หรอก ที่เจ้าของบ้านจะยอมทำเช่นนั้น และจะมีเสียงต่อต้านมากมายจนสิ่งที่เสนอนี้ทำไม่ได้

ในตอนที่แล้วเราพูดถึงวิวัฒนาการของการปรับปรุงทางเท้าที่เดินไม่ได้หรือไม่อยากเดิน มาเป็นทางเท้าที่ชวนเดินมากขึ้น แต่เราก็ได้ทิ้งปัญหาไว้ว่าถ้าจะให้ดีทางเท้าที่ดีต้องไม่มีช่องบ๋อมลง (ตรงทางเข้าบ้านหรือคอนโด ฯลฯ) มากไป เพราะถ้ามีมากไป เราคนเดินเท้าก็ต้องไต่ขึ้นเดินลง อันนับว่าไม่สะดวกและน่าเดินน้อยลง

และเราบอกด้วยว่าควรให้ฝ่ายขับรถเข้าบ้าน เข้าคอนโดนั่นแหละที่เป็นคนที่ต้องไต่ขึ้นไต่ลงที่ทางเท้าก่อนเข้าหรือออกจากบ้านแทนเรา และเราก็หยอดท้ายไว้ด้วยว่า หลายคนคงนึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนที่เดิมเคยขับรถเข้าบ้านแบบสบายๆ จะยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ใครสนใจที่มาที่ไปอ่านบทความตอน 1 เพิ่มเติมได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651122

แล้วมันเป็นไปได้จริงไหม

จริงครับ เรามีรูปภาพพิสูจน์อยู่มากมาย ทั้งในเขตต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่เราขอเลือกเฉพาะภาพที่คนคุ้นตามานำเสนอให้ท่านดู นั่นคือที่ ถ.พหลโยธิน ช่วงใกล้อนุสาวรีย์ชัย (ดูภาพที่ 4 และ 5 ที่ต่อเนื่องจากบทความตอน 1) ในภาพจะเห็นทางเท้าที่เดินได้ต่อเนื่อง และตรงทางเข้าบ้านเข้าอาคารก็ไม่มีช่องบ๋อมลงไปของทางเท้าอีกต่อไป ทำให้เดินได้สะดวกและน่าเดินกว่าเดิมมากมาย

ทางเท้านี้ กทม.ได้ทำการปรับปรุงเมื่อเดือน มิ.ย.-ก.ค.2563 นี่เอง ซึ่งเป็นช่วงที่หลังจากได้มีการเอาสายไฟฟ้าลงดินแล้ว สิ่งนี้ยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมทางกายภาพน่าเดินมากขึ้นไปอีก รวมทั้งทำให้เมืองของเราน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งเราต้องขอขอบคุณ กทม.เป็นอย่างมากที่ได้เริ่มทำสิ่งดีๆ นี้ให้แก่บ้านเมืองของเรา ตามที่เราได้ขอร้องและผลักดันมากันนานพอสมควร

160053291188

ภาพที่ 4 ทางเท้าที่ดี เดินได้ต่อเนื่องและสะดวกสมกับเป็นเมืองหลวงของประเทศ (ถ.พหลโยธิน ก.ค.2563)

160053298486

ภาพที่ 5 มีการทำทางราดยางมะตอยอย่างดีตรงบริเวณ ทางเข้าอาคาร ทำให้เดินได้ราบเรียบและต่อเนื่อง 

ส่วนที่เป็นขอบ ทำให้เดินยาก ล้มง่าย แต่จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ ก็ยังมีส่วนที่ทางเท้าต้องบ๋อมลง อันทำให้ประชาชนต้องเดินขึ้นเดินลงและวีลแชร์ต้องไต่ขึ้นไต่ลงตรงขอบทางเท้าที่ระดับไม่เท่ากันอยู่ดี ทั้งที่เป็นถนนเดียวกันก่อสร้างปรับปรุงพร้อมกัน (ดูภาพที่ 6) ถ้า กทม.จะปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการให้สมบูรณ์ตลอดทั้งสายก็จะเป็นพระคุณยิ่งขึ้นไปอีก

160053300130

ภาพที่ 6 บริเวณทางเท้าที่ปรับปรุงแล้วแต่ยังมีส่วนที่เดินไม่สะดวก (ถ.พหลโยธิน ก.ค.2563)

ไหนๆ จะพูดถึงความไม่สมบูรณ์นี้แล้ว ก็ขออนุญาตแถมอีก 2 เรื่อง คือ (1) ฝาบ่อพักของอีกหน่วยราชการยังไม่ได้ระดับเดียวกับทางเท้ายังมีบ๋อมลงไปลึกพอสมควร (ดูภาพที่ 7) ทำให้ข้อเท้าพลิกและเป็นอันตรายต่อคนเดินเท้าและคนพิการได้ รวมทั้ง (2) ชุดตู้ชุมสายก็มิได้มีการปรับปรุงไปพร้อมกัน ทำให้ความสวยงามที่มีนั้นถูกลดทอนลงไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่ายังขาดการพูดคุยและบูรณาการกันอย่างที่หลายคนอยากเห็น ถ้าต่างหน่วยงานของรัฐจะช่วยทำให้สมบูรณ์ขึ้นความขอบคุณของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นหลายเท่าทวีคูณ

ฝาท่อไม่ได้ระดับกับพื้นทางเท้า ตู้ชุมสายอยู่ในสภาพที่อาจไม่ปลอดภัย

160053302225

ภาพที่ 7 ยังขาดการบูรณาการในการทำงานของต่างหน่วยราชการ ทำให้งานยังไม่สมบูรณ์

และมันจะเป็นไปได้จริงไหมที่หน่วยงานรัฐจะบูรณาการกันก่อนเพื่อให้งานออกมาเรียบร้อย คำตอบคือได้ครับภาพที่ 8 ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าสิ่งนี้เป็นไปได้และเป็นไปได้จริงแล้วด้วย

ขอขอบคุณหน่วยงานของรัฐ ที่เริ่มเข้าใจในความสำคัญของทางเลือกที่ดีของการเดินทาง (เฉกเช่นการเดินเท้านี้ ซึ่งนอกจากจะดีต่อคนเดินเท้าแล้ว วีลแชร์และคนที่ใช้จักรยานในการสัญจรก็จะได้ประโยชน์ด้วย) และทำให้มันสะดวกสบาย รวมทั้งลดอันตรายให้แก่พวกเรา ประชาชนคนไทยทุกคน...ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

160053303787

ภาพที่ 8 ตู้อุปกรณ์ของการไฟฟ้านครหลวงบนทางเท้าของ กทม.ที่ร่วมกันทำได้ดีน่าชมเชย