'ศบศ.' เร่งลงทุน 1.2 ล้านล้าน ลุยเมกะโปรเจคเสริมแกร่งหลังโควิด

'ศบศ.' เร่งลงทุน 1.2 ล้านล้าน ลุยเมกะโปรเจคเสริมแกร่งหลังโควิด

การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่รัฐบาลนำมาใช้พยุงเศรษฐกิจช่วงโรคโควิดระบาดแล้ว ยังมีแผนการบริการเศรษฐกิจระยะปานกลาง-ยาว ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญคู่กับการบริหารเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจประเทศให้พร้อมฟื้นหลังโควิด

ที่สำคัญแผนการบริหารเศรษฐกิจระยะปานกลาง-ยาว จะช่วยให้การขยายตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศมีความได้เปรียบในทางการแข่งขัน ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างแรงงานและใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว ที่มี "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เสนอโครงการบริหารเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาวให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “ศบศ.” ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งได้เสนอเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 

การลงทุนโครงการและแผนงานที่มีความสำคัญต้องเร่งรัด ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี วงเงินงบ 80,500 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติต้นปี 2564 และออกแบบรายละเอียดโครงการเสร็จเดือน มิ.ย.2565

โครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองต่อขยายอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 28,300 ล้านบาท อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโครงการและรูปแบบการลงทุน

โครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ข้ามทางรถไฟสายสีแดง เชื่อมต่อทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวลล์) วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยต้องเร่งเจรจาลงทุนโครงข่าย Missing link กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมทุนได้ภายในเดือน ก.ย.2564

การลงทุนโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ เช่น โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 107,000 ล้านบาท โดยกำหนดให้เปิดทดลองใช้รถไฟฟ้าวันที่ 1 ก.ค.2564

โครงการระบบรางรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกลเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล วงเงิน 135,000 ล้านบาท โดยกำหนดให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2565 ทุกเส้นทาง

160048949269

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) โดยกำหนดให้ลงนามสัญญางานโยธาทั้งหมดภายในปี 2564 และก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2568

โครงการศึกษาการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาบริหารกิจการของรถไฟความเร็วสูง โดยตั้งงบประมาณในการศึกษาไว้ 30 ล้านบาท โดยให้เสนอ ครม.ของบศึกษาในปี 2564 

การลงทุนที่ใช้การลงทุนในรูปแบบ PPP ช่วงปานกลาง-ระยะยาว ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) วงเงิน 48,500 ล้านบาท โดยก่อสร้างปี 2567 และเปิดบริการปี 2570

โครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง วงเงิน 35,200 ล้านบาท รวมถึงโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.เชียงใหม่ สายสีแดง ช่วง รพ.นครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี วงเงิน 27,300 ล้านบาท และโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.นครราชสีมา สายสีเขียว วงเงิน 84,800 ล้านบาท

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 114,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำรายชื่อผู้ชนะการประมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และประกาศผู้ชนะได้ในปี 2563

การลงทุนที่เร่งรัดการระดมทุนผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) ที่ระดมทุนไปแล้ว 44,000 ล้านบาท ซึ่ง TFFIF ควรเร่งรัดนำเอาเงินไปลงทุนก่อสร้างโครงการทางด่วนพระราม 3 และโครงการทางพิเศษสายอื่น เพื่อให้สอดคล้องวัตถุประสงค์การตั้งกองทุน โดยกำหนดให้ใช้เงินไปลงทุนไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2564

รวมทั้งมีการกำหนดให้เร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีกรอบการลงทุนในปี 2563-2564 วงเงิน 3.6 แสนล้านบาท

160048931140

ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า แผนบริหารเศรษฐกิจในช่วงระยะกลาง-ยาวซึ่งมีแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นแผนที่มีอยู่แล้วแต่รอการจัดลำดับความสำคัญ การศึกษา และอนุมัติโครงการ 

สำหรับแผนนี้ สศช.ในฐานะเลขานุการของ ศบศ.ทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมเสนอให้กับคณะอนุกรรมการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อเสนอให้ ศบศ.ชุดใหญ่พิจารณากำหนดเป็นแผนการบริหารเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับแผนเศรษฐกิจระยะสั้นที่ทยอยอนุมัติเป็นระยะเพื่อดูแลเศรษฐกิจประเทศ