พาณิชย์ลุยสอบ 'จัดซื้อถุงมือยางแสนล้าน' หวังหาต้นตอเอาผิด

พาณิชย์ลุยสอบ 'จัดซื้อถุงมือยางแสนล้าน' หวังหาต้นตอเอาผิด

“จุรินทร์” ย้ำจัดซื้อถุงมือยางแสนล้าน ต้องทำตามกฎหมายระบุ“คนผิดต้องรับผิดชอบ” ผอ.อคส.เดินสายแจ้งความดีเอสไอ -ปปง.ฐานฉ้อโกงหวังอายัดบัญชี 2พันล้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง องค์การคลังสินค้า (อคส.)จัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง ราคากล่องละ 225 บาท รวมมูลค่า 112,500 ล้านบาท พร้อมอนุมัติเงินหลักประกันสัญญารวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่เอกชนผู้ผลิตว่าได้รับทราบว่าทางอคส.ได้ไปแจ้งความต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แล้วจากนี้ไปคงต้องรอให้เป็นตามกระบวนการทางกฎหมาย 

ทั้งนี้ กรรมการองค์การคลังสินค้า หรือบอร์ด อคส.ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ซึ่งตนไม่ได้กำหนดเวลาการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง เพราะทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามระเบียบของอคส.ซึ่งประเด็นสำคัญคือการดำเนินการของพ.ต.อ.รุ่งโรจน์  ในฐานะอดีตรักษาการ ผู้อำนวยการ อคส.ได้ดำเนินการถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 “ทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายอยู่แล้ว หากใครทำผิดก็ต้องรับผิดชอบ”

      นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะบอร์ดอคส.  กล่าวว่า บอร์ดไม่เคยรับรู้ในเรื่องดังกล่าวมาก่อน ดังนั้น บอร์ดอคส.จึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมอย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา และที่ประชุมมีมติระงับการจัดซื้อถุงมือยางและยกเลิกสัญญาดังกล่าวเพราะถือว่าสัญญาเป็นโมฆะ เนื่องจากรักษาการ ผอ.อคส.ไม่มีอำนาจอนุมัติงบเกิน 25 ล้านบาท หากเกินกว่านั้นแต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต้องเสนอประธานบอร์ด อคส. พิจารณา และหากเกิน 50 ล้านบาทต้องเสนอบอร์ดพิจารณา แต่ครั้งนี้ต้องจัดหาเงินมากถึง 2,000 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นหลักประกันการจัดซื้อดังกล่าวซึ่งเกินว่าขอบข่ายอำนาจที่มีรวมถึงไม่ได้นำเรื่องมาเสนอให้บอร์ดพิจารณาก่อนดำเนินการด้วย

ดังนั้น บอร์ดจึงให้อำนาจ อคส.แจ้งความต่อดีเอสไอ)และปปง.  ฐานฉ้อโกง พร้อมให้อายัดเงินในบัญชีที่ อคส.โอนให้บริษัทผู้ผลิตถุงมือยางไปแล้วขณะเดียวกันต้องตรวจสอบเส้นทางของเงินด้วย 

“ถือว่า การดำเนินการของ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์เป็นการกระทำการที่ลุแก่อำนาจโดยพลการ และยืนยันว่าการตัดสินใจของพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ไม่ผ่านที่ประชุมบอร์ด และไม่รายงานนายจุรินทร์ ทราบ นอกจากนี้ ยังสั่งให้ ผอ.อคส. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา”  

ผอ.อคส.เดินสายแจ้งความ  

 นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต  ผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า วานนี้ (18 ก.ย.) เวลา 15.30 น.ได้เดินทางไปดีเอสไอ และพบกับอธิบดีดีเอสไอ เพื่อยื่นเรื่องฟ้องร้องพ.ต.อ.รุ่งโรจน์และบริษัทผลิตถุงมือยาง กรณีที่อาจพัวพันการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง ราคากล่องละ 225 บาท รวมมูลค่า 112,500 ล้านบาท จากนั้นจะเดินทางไปปปง. เพื่อให้อายัดเงินหลักประกันสัญญารวม 2,000 ล้านบาท ที่อคส.โอนไปให้บริษัทผลิตถุงมือยางแล้วและขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย

      “เรื่องนี้ อคส.ตั้งข้อสงสัยว่า อาจมีการทุจริต เพราะการรักษาผู้อำนวยการอคส.ดำเนินการโดยไม่ผ่านความเห็นบอร์ดอคส.ทั้งๆ ที่มูลค่าการซื้อขายเป็นเงินจำนวนมาก แต่ผมไม่ห่วงเรื่องอนุมัติเงิน สิ่งที่ห่วงคือ เมื่อขายถุงมือยางไปแล้ว อคส.จะเก็บเงินจากผู้ซื้อไม่ได้”

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าหนักใจในประเด็นดังกล่าว เพราะมีความตั้งใจที่จะเข้ามาทำให้อคส.เป็นหน่วยงานที่มีรายได้จนสามารถหาเลี้ยงตนเองได้ แต่เมื่อเจอปัญหาเช่นนี้ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย 

สำหรับแผนการที่อคส.จะดำเนินการหลังจากนี้ก็คือ จะเสนอแผนงานต่อบอร์ดในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ในการดูแลและลดปัญหาพืชเกษตรสำคัญของไทย คือ ปาล์มน้ำมัน ลำไย กุ้ง และมะพร้าว เพื่อไม่ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบต่อการทำหน้าที่ของอคส.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลและเป็นที่พึ่งประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร

พ.ต.อ.รุ่งโรจน์พึ่งศาลปกครอง

ด้านพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง  ซึ่งตนพร้อมให้ข้อมูลทุกอย่างโดยละเอียด อย่างไรก็ตาม ทางหลักการแล้วคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถดำเนินการได้จากการตรวจสอบเอกสารเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องเชิญบุคคลไปให้ปากคำ หรือจะเชิญบุคคลร่วมให้ปากคำด้วยร่วมด้วยก็ได้ 

ทั้งนี้ พร้อมให้ข้อมูลทุกอย่างโดยละเอียด  สำหรับขั้นตอนเมื่อคณะกรรมการฯตรวจสอบแล้วเสร็จหากมีผลว่ากระทำผิด ก็จะส่งให้ผอ.อคส.คนปัจจุบันพิจารณา โดยขั้นตอนจะเชิญผู้ถูกกล่าวหามารับทราบหากไม่คัดค้านก็ตั้งกรรมการตามฐานความผิด เช่น ผิดวินัยก็พิจารณาตามระเบียบด้านวินัยการทำงาน 

อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจได้ตั้งใจการทำงานและหวังดีต่อองค์กรนอกจากนี้มีการศึกษาข้อกฎหมายอย่างชัดเจนโดยอ้างอิงพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การคลังสินค้า ปี2498 มาตรา 26 ที่ระบุว่าแม้ผู้อำนวยการจะไม่สามารถลงนามทำสัญญาในมูลค่าที่สูงเกินกำหนดได้แต่สามารถนำเรื่องกลับมาให้บอร์ดพิจารณาในภายหลังเพื่อให้สัตยาบันได้และให้ข้อสัญญานั้นๆมีผลในทางปฎิบัติต่อไปได้  

“ถ้าบอกว่าผมผิดผมก็คงจะต้องร้องขอความเป็นธรรมเพราะเราทำบนหลักการข้อกฎหมาย และอยากเห็นองค์กรมีกำไรเลี้ยงตัวเองได้  ต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด เมื่อถึงตอนนั้นอาจต้องฟ้องศาลปกครองเพื่อความเป็นธรรมด้วย”

ส่วนการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อดีเอสไอพนักงานสอบสวนจะเรียกผู้ถูกฟ้องไปสอบสวน ซึ่งตนพร้อมชี้แจงรายละเอียดทั้งหมด ยืนยันว่า การจัดซื้อครั้งนี้ ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างถูกต้อง และไม่มีการทุจริต มีเพียงต้องการหาเงินให้กับองค์กร เพราะขณะนี้ อคส.ขาดทุนต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน รวมกว่า 11,700 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อถุงมือยาง และขายต่อให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ ในราคากล่องละ 230 บาท จะทำให้อคส.มีกำไรกล่องละ 5 บาท รวมแล้วอคส.จะมีกำไรหลายพันล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ 50%ส่งให้หลวง และอีก 50%เป็นรายได้ของอคส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากนายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต รับตำแหน่งผู้อำนวยการอคส.คนใหม่เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2563 และเจ้าหน้าที่ของอคส.ได้รายงานเรื่องต่างๆ ให้ทราบ รวมถึงเรื่องการลงทุนในโครงการต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือ การจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท โดยมีการจัดซื้อกันในเดือนส.ค.2563 ในช่วงที่พ.ต.อ.รุ่งโรจน์เป็นรักษาการผู้อำนวยการ อคส. และนายเกรียงศักดิ์ยังไม่เข้ารับตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการรายงานเรื่องต่างๆ ให้นายเกรียงศักดิ์ รับทราบนั้น มีการตั้งคำถามว่า เหตุใดการจัดซื้อถุงมือยางครั้งนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของบอร์ดอคส. และบริษัทผู้ผลิตถุงมือยาง ที่อคส.สั่งซื้อนั้น น่าเชื่อถือหรือไม่ อย่างไร เพราะเพิ่งจดทะเบียนบริษัท เมื่อเดือนก.ย.63 มีทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท แต่ชำระทุน ณ วันจดทะเบียน 5 ล้านบาท จากนั้นวันที่ 15 ก.ย.2563 เพิ่งจะเพิ่มทุนในส่วนที่เหลือจนครบ 2,500 ล้านบาท 

นายเกรียงศักดิ์ จึงได้รายงานเรื่องนี้ต่อนายจุรินทร์ จนนำมาซึ่งการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และเสนอให้นายกรัฐมนตรี สั่งย้ายพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ไปสำนักนายกรัฐมนตรี จนกว่าการสอบข้อเท็จจริงจะแล้วเสร็จ ซึ่งนำไปสู่ที่มาของคำสั่งลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 31/2563 ลงวันที่ 14 ก.ย.2563 เรื่องให้เจ้าหน้าที่รัฐมาปฏิบัติหน้าที่ในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ บรรจุและแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งย้ายด่วน พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง องค์การคลังสินค้า (อคส.) มาปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี