ย้อนอ่านประกาศ 'รัฐประหาร 2549' สู่ '19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร'

ย้อนอ่านประกาศ 'รัฐประหาร 2549' สู่ '19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร'

การประกาศชุมนุม "19 กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร" ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นับว่า ตรงกันกับครบรอบ 14 ปี การทำ "รัฐประหาร 2549" พอดิบพอดี น่าสนใจว่า เวลาผ่านมานาน 14 ปี มีใครยังจำเหตุการณ์ครั้งนั้น รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาได้หรือไม่

คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับคณะประชาชนปลดแอก ประกาศจัดชุมนุมใหญ่ #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 14 ปีของการทำรัฐประหารครั้งที่ 12 ของประเทศไทย เมื่อปี 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) พอดี 

แม้นับจนถึงวันนี้ ประเทศไทยจะผ่านการรัฐประหารอีกครั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นยังคงสร้างบาดแผลต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ 

กรุงเทพธุรกิจ ชวนอ่านแถลงการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด ทั้งการรัฐประหารปี 2549 ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และปี 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันเป็นการรัฐประหารที่ส่งผลตรงถึงการชุมนุมใหญ่ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมานี้ของประชาชนผู้ต้องการ “ประชาธิปไตย” อย่างเต็มรูปแบบ

  • 2549: รัฐประหารครั้งที่ 12 ของประเทศไทย

จุดเกิดของรัฐประหารครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการประท้วงของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตร ที่ออกมาประท้วงขับไล่ พล.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลบริหารงานผิดพลาด มีการฉ้อโกงเกิดขึ้นในระบบราชการเกิดขึ้น ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีข่าวลือว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า เนื่องจากผู้นำทุกเหล่าทัพไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีและ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยในช่วงค่ำก็เริ่มมีสัญญาณของการรัฐประหารชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่การเคลื่อนกำลังทหารหน่วยรบพิเศษเข้ากรุงเทพฯ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ยุติการฉายรายการปกติ 

และเมื่อถึงช่วงกลางดึก ตั้งแต่ 22.00 น. ขบวนรถถังได้เคลื่อนไปที่ถนนราชดำเนิน ทหารเข้าตรึงกำลังและควบคุมสัญญาณการออกอากาศโทรทัศน์ทุกช่องให้ตัดเข้าโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงเปิดเพลง “ความฝันอันสูงสุด” 

160047862864

โดยหลักแล้วจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะในรัฐบาลปัจจุบันนั้น มีการเกิดขึ้นของความขัดแย้งและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนในชาติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นจึงได้เข้าควบคุม ซึ่งหลังจากที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นนี้ คณะปฏิรูปฯ ก็ควบคุมสถานการณ์อยู่เป็นระยะหนึ่ง จนกระทั่งมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

  • 2557: รัฐประหารครั้งล่าสุด โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในช่วงปลายปี 2556 เดือนตุลาคม ประเทศไทยเริ่มเกิดความขัดแย้งและวิกฤตการณ์การเมืองขึ้นเนื่องจากมีประชาชนกลุ่มหนึ่งต้องการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การประท้วงยืดเยื้อยาวนานจนถึงเดือน ธ.ค. 2556 รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แต่การเลือกตั้งก็ถูกผู้ประท้วงขัดขวางจนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้ง

ปัญหาการต่อต้านยังคงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่มีการเพิกถอนการเลือกตั้งจนถึงเดือนพฤษภาคม ขณะนั้นในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) 

กระทั่งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. จึงมีแถลงการณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกมา เนื้อหาดังนี้

160047874697

ในประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า เพื่อต้องการให้เกิดความสงบจากการปะทะ ที่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อทรัพย์สิน รวมถึงมีแนวโน้มขยายความรุนแรงมากขึ้น คสช. จึงเข้าควบคุมสถานการณ์ และหลังจากนั้นจึงได้ออกประกาศและควบคุมตัวรวมถึงดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลต่างๆ ทั้งสมาชิกคณะรัฐมนตรี แกนนำผู้ประท้วงทั้งสองกลุ่ม และออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ขึ้นมา 

หลังจากนั้นในเดือน ก.ค. ปี 2557 ก็ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลือกนายกรัฐมนตรีเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนกระทั่งสิ้นสุดหน้าที่ คสช. ในฐานะ สนช. และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามปกติในเดือน มีนาคม 2562 รวมระยะเวลาทั้งสิ้นเกือบ 5 ปี 

  • มูลเหตุการเรียกร้องของประชาชน

รัฐประหารในปี 2549 ได้รับการขนานนามว่า เป็นรัฐประหารที่เป็นบ่อเกิดชนวนความขัดแย้งยาวนาน เพราะประชาชนกลุ่มหนึ่งมองว่า รัฐบาลที่เขาได้เลือกตั้งเข้ามาด้วยความชอบธรรม ถูกยึดอำนาจ และถูกยุบพรรคไปด้วย ต่อมาในปี 2554 ที่มีการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย กลับมาอีกครั้งในชื่อของ พรรคเพื่อไทย และชนะการเลือกตั้ง ทำการตั้งรัฐบาลโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่อยู่ได้เพียง 1-2 ปี ก็มีกระแสการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากประชาชนกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดม็อบชนม็อบอีกครั้งทำให้ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

แต่ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ยังดำเนินการไม่เรียบร้อย เพราะได้รับแรงต้านจากกลุ่ม กปปส. ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งในปี 2557 เป็นโมฆะ รวมถึงยิ่งลักษณ์ ถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายโดยมิชอบ ทำให้ต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการ

เรียกได้ว่าเหตุนี้จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้น ทำการรัฐประหารในปี 2557 นอกจากนี้มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ออกมา โดยฉบับนี้ได้มีการถูกพูดถึงว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อ

พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งโดยไม่มีการเลือกตั้งนานถึง 5 ปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยก่อนหน้าก็มีการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก และถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม ประชาชนก็ยังมองการเลือกตั้งครั้งนั้น ถือเป็นการฟอกขาวให้กับเผด็จการ เพราะคณะรัฐมนตรีก็ยังเป็นหน้าเดิม ไม่ต่างจากช่วงที่บริหารในนามของ คสช. เลย 

มาในปี 2563 การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เหตุเกิดจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งลำดับที่ 3 และได้รับความนิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ หลากหลายการวิเคราะห์ได้บอกว่า เหตุนี้ทำให้กลุ่มคนใหม่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเริ่มมองเห็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาในช่วงการบริหารงานของ รัฐบาลภายใต้การนำ พล.อ.ประยุทธ์ ตกต่ำก็นับเป็นเหตุและชนวนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในครั้งนี้

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมมีการชุมนุมเรื่อยมา แต่ม็อบก็จำต้องหยุดลงชั่วคราวด้วยสถานการณ์โควิด-19 และเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการ การชุมนุมก็กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่ว่าที่ 18 กรกฎาคม 2563 กับเยาวชนปลดแอก ที่มาด้วย 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลคือ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้นก็เกิดแฟลชม็อบขึ้นตามสถานที่ และจังหวัดต่างๆ การชุมนุมเดินทางไปพร้อมๆ กับการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้แรงกระเพื่อมการชุมนุมที่เพิ่มขึ้นด้วย

เวลาผ่านไป 1 เดือนกลุ่มผู้ชุมนุมได้เห็นแล้วว่า ข้อเรียกร้อง 3 ข้อไม่เป็นผล จึงเกิดการชุมนุมขึ้นอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กับ 10 ข้อปฏิรูปสถาบัน การชุมนุมเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ (19 กันยายน) ที่นับได้ว่าการยกระดับการชุมนุมครั้งใหญ่อีกครั้ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านการชุมนุมจากหลายๆ ฝ่าย

นับตั้งแต่ 19 กันยายน 2563 เป็นต้นหลังจากนี้ เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร หมุดหมายประชาธิปไตยจะมุ่งสู่ทางใด ต้องรอติดตามกันต่อไป

160047964186