เรียนรู้‘นวัตกรรมเปลี่ยนโลก’จากอิสราเอล

เรียนรู้‘นวัตกรรมเปลี่ยนโลก’จากอิสราเอล

เรียนรู้‘นวัตกรรมเปลี่ยนโลก’จากอิสราเอล โดยสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยจัดงานเสวนา Disruptive Innovation: the Israeli Startup Nation เจาะลึกเรื่องนวัตกรรมและเบื้องหลังความสำเร็จของชาติแห่งสตาร์ทอัพ

ประเทศไทยกับอิสราเอลอาจจะตั้งอยู่ห่างไกลกันคนละภูมิภาค แต่ก็มีความคุ้นเคยต่อกัน เนื่องจากไทยเป็นปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 2 ของคนอิสราเอล ในทุกครอบครัวจะต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คนเคยมาเที่ยวไทย เมื่อคุ้นเคยกันขนาดนี้ไทยน่าจะถือโอกาสเรียนรู้เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในฐานะที่อิสราเอลเป็นสตาร์ทอัพเนชัน

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยจัดงานเสวนา Disruptive Innovation: the Israeli Startup Nation เจาะลึกเรื่องนวัตกรรมและเบื้องหลังความสำเร็จของชาติแห่งสตาร์ทอัพ แน่นอนว่าในความสำเร็จของทุกสิ่งทุกอย่างเบื้องหลังประการแรกคือ “คน” ที่ร่ำลือกันมาตลอดว่าคนอิสราเอลฉลาดมาก

“ตอนแรกก็ได้ยินว่าคนอิสราเอลฉลาด ก่อนไปรับตำแหน่งก็ยังสงสัยว่าจะฉลาดอะไรกันนักหนา คงเหมือนคนที่อื่น แต่ปรากฏว่าพอได้คบก็รู้ว่าเขาฉลาดมากจริงๆ” เพ็ญประภา วงษ์โกวิท อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอิสราเอลเล่าประสบการณ์ โดยยกตัวอย่างการเยี่ยมคารวะกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ ของอิสราเอลเมื่อไปประจำการเป็นเอกอัครราชทูตที่นั่นครั้งแรก ตามธรรมเนียมมักเป็นการพูดคุยกันแบบสบายๆ แต่เจ้าหน้าที่อิสราเอลคุยเรื่องหนักตั้งแต่ความสัมพันธ์ทวิภาคี ปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองแบบจริงจังมากชี้ให้เห็นว่าทำการบ้านมาดี

อย่างไรก็ตาม คนที่จะพูดเรื่องนี้ได้ดีที่สุดหนีไม่พ้น เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า การที่ประเทศของตนยอดเยี่ยมในเรื่องความสร้างสรรค์และนวัตกรรมจนกลายเป็นชาติสตาร์ทอัพนั้น เพราะอิสราเอลเป็นแหล่งรวมชาวยิวหลายล้านคน ที่พูดต่างภาษา รับประทานอาหารต่างชนิด มีความคิดแตกต่างกัน ได้กลับมารวมกันที่อิสราเอล นำความแตกต่างเหล่านั้นมาร่วมสร้างชาติจนประสบความสำเร็จ

หากดูแผนที่อิสราเอลรายรอบไปด้วยประเทศที่ไม่เป็นมิตร นี่เป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่มีส่วนกำหนดอัตลักษณ์ของประเทศ ความคิดสร้างสรรค์อาจมาชดเชยกับปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่สิ่งที่สำคัญคืออิสราเอลขาดน้ำ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อมท้าทายทำให้ต้องมีชีวิตที่ดีให้ได้

สถานการณ์สตาร์ทอัพในตอนนี้ ทูตสรุปว่า อิสราเอลมีสตาร์ทอัพ 6,000 บริษัท หนาแน่นที่สุดในโลกด้วยอัตราส่วนผู้ประกอบการ 1 คนต่อประชากร 1,500 คน ปี 2562 ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศ 8,000 ล้านดอลลาร์ มีธุรกิจร่วมลงทุนต่อหัวประชากรมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก ครองอันดับ 3 ด้านนวัตกรรมโลกรองจากสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ ที่แตกต่างคือประเทศส่วนใหญ่จะมีแค่อุตสาหกรรมหลักเพียง 2-3 อุตสาหกรรมที่สร้างนวัตกรรม เช่น สวิตเซอร์แลนด์เด่นเรื่องยา แต่อิสราเอลสร้างนวัตกรรมในหลากหลายสาขา เช่น ขาดแคลนน้ำก็สร้างนวัตกรรมด้านน้ำ ทำเกษตรได้ดีก็ทำนวัตกรรมการเกษตรอย่างระบบชลประทานน้ำหยด หรือแม้แต่ในสิ่งที่ไม่มี เช่น อิสราเอลไม่ได้ผลิตรถยนต์แต่ก็มีเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ

ทูตชโลโมกล่าวต่อว่า สตาร์ทอัพอิสราเอลเข้าไปจดทะเบียนในตลาดแนสแด็กเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่กว่ามากมาย ขณะนี้สตาร์ทอัพอิสราเอลกำลังมุ่งสู่การสเกลอัพ (Scaleup) นั่นคือการเติบโตและขยายขนาด เฉพาะปี 2562 ปีเดียวมียูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าตลาดเกิน 1 พันล้านดอลลาร์) จำนวน 20 บริษัทมากกว่าฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลียรวมกัน

ข้อเด่นอีกด้านหนึ่งของอิสราเอลจากคือ เป็นประเทศที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามด้วยเกาหลีใต้ แม้สถิติในปี 2562 สำรวจโดยสถาบันสถิติยูเนสโกตัวเลข 2 ประเทศเท่ากันที่ 4.6% ของจีดีพี และดัชนีนวัตกรรมโลกปีนี้เกาหลีใต้ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 10 แทนอิสราเอล แต่ 2 ประเทศก็มีข้อแตกต่าง ทูตชโลโมกล่าวว่า การลงทุนอาร์แอนด์ดีของเกาหลีใต้ทำโดยรัฐ แต่อิสราเอลทำโดยภาคเอกชน ไม่ใช่แค่ภาคเอกชนอิสราเอล แต่รวมถึงบริษัทใหญ่โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างไมโครซอฟท์ กูเกิล

จากอิสราเอลสู่ไทย พันธ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงดัชนีนวัตกรรมโลกที่เพิ่งประกาศในวันที่ 2 ก.ย. อิสราเอลจากอันดับ 10 ในปี 2562 มาอยู่อันดับ 13 ไทยอยู่ในอันดับ 44 จาก 131 ประเทศ จุดแข็งของอิสราเอลที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 อยู่ที่การวิจัยและพัฒนา เครือข่ายนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมทำงานด้วยกัน และการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีของภาคเอกชน ส่วนสาขาที่ประเทศไทยครองอันดับ 1 ได้แก่ การลงทุนมวลรวมในอาร์แอนด์ดี ปีนี้บริษัทใหญ่ๆ ของไทยลงทุนด้านนี้เป็นสัดส่วนสูงสุดของโลกที่ประมาณ 80% (การลงทุนของรัฐราว 18-19%) หมายความว่า เอกชนรายใหญ่ของไทยกลายเป็นผู้เล่นหลักด้านนวัตกรรม

นอกจากนี้ไทยยังครองอันดับ 1 ด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ เช่น ดีไซน์ พูดง่ายๆ คือไทยยังขายสินค้าจากหยาดเหงื่อแรงกายและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย แต่อิสราเอลได้รับการยอมรับ เรื่องราวสตาร์ทอัพของอิสราเอลกลายเป็นคอนเทนท์ในวิกิพีเดียหรือบทความสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

"นี่ไม่ใช่การออกแบบแล้วขายสินค้าเป็นชิ้นๆ แบบบ้านเรา แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์บวกคอนเทนท์ที่ใส่เข้าไปในระบบนวัตกรรม เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ แปลงงานวิจัยมาเป็นนวัตกรรมได้สำเร็จ" พันธ์อาจสรุป

ไม่เพียงเท่านั้นผู้ร่วมเสวนาต่างยอมรับว่า การที่ชาวอิสราเอลทุกคนต้องเป็นทหาร 2-3 ปี ระหว่างนั้นกองทัพได้อบรมความรู้ ปลูกฝังการตัดสินใจอย่างอิสระ กองทัพจึงมีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะนวัตกร อีกทั้งวัฒนธรรมชาวยิวนิยมตั้งคำถาม ถกแถลง ให้คำตอบด้วยการตั้งคำถามกลับไป ผู้ใหญ่ไม่รู้สึกว่าถูกเด็กท้าทายเมื่อถูกถาม เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

และในโอกาสที่อิสราเอลกำลังเดินหน้าสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอาหรับเพิ่มมากขึ้น กรุงเทพธุรกิจมีโอกาสคุยนอกรอบกับทูตชโลโมด้วยคำถามว่า อิสราเอลมีนโยบายใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรหรือไม่

“น้ำเป็นปัญหาหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ การขาดแคลนน้ำทำให้ประเทศต่างๆ ต้องแย่งน้ำกัน ก็เกิดปัญหาตามมา ถ้าเรามีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่แก้ปัญหาได้ ความขัดแย้งก็ลดลง เช่น ”WaterGenอุปกรณ์ผลิตน้ำจากอากาศ ซึ่งอิสราเอลได้นำไปแบ่งปันไปทั่วโลก" ท่านทูตกล่าวทิ้งท้าย

160048350836