'เสริมเขี้ยวเล็บ'กองทัพเอเชียแผนรับมือภัยคุกคามจีนของสหัฐ

'เสริมเขี้ยวเล็บ'กองทัพเอเชียแผนรับมือภัยคุกคามจีนของสหัฐ

'เสริมเขี้ยวเล็บ'กองทัพเอเชียแผนรับมือภัยคุกคามจีนของสหัฐ โดยรัฐบาลวอชิงตันอ้างว่าจีนมีพฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของโลกมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนด้านการป้องกันประเทศเพิ่ม

สหรัฐและจีน ยังคงเดินหน้าสร้างบรรยากาศอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สหรัฐโน้มน้าวชาติพันธมิตรให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) โดยให้เหตุผลว่าขณะนี้จีนมีพฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของโลกมากขึ้น จึงต้องมีการลงทุนด้านการป้องกันประเทศเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บไว้รับมือกับภัยคุกคามจากจีน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ

“มาร์ค เอสเปอร์” รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ เรียกร้องให้พันธมิตรของสหรัฐทั่วโลกเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งคำกล่าวของเอสเปอร์ สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่าพันธมิตรของสหรัฐควรมีการใช้จ่ายที่ยุติธรรม พร้อมทั้งแสดงความไม่พอใจหลายครั้งที่ชาติสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้)ไม่เพิ่มการสนับสนุนงบประมาณของกลุ่ม ทั้งยังไม่ยอมเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศให้ได้ระดับ 2% ของจีดีพีตามที่สหรัฐเรียกร้อง

เอสเปอร์ กล่าวระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่แรนด์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่สร้างขึ้นในปี 2491 เพื่อเสนอการวิจัยและการวิเคราะห์สำหรับกองทัพสหรัฐ โดยขอให้ พันธมิตรของสหรัฐทั่วโลกเข้าใจว่าสหรัฐ มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์และรักษาระเบียบที่ยึดตามกฎสากล จึงขอให้เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันเป็นอย่างน้อย 2% ของจีดีพีและเพิ่มการลงทุนที่จำเป็นเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถด้านการป้องกันเหมือนกับสหรัฐ

“เราขอเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราทั่วโลกเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศเป็นอย่างน้อย 2% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่จำเป็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาขีความสามารถด้านการทหารของพวกคุณ เหมือนที่สหรัฐทุ่มเทงบประมาณกับการพัฒนากองกำลังเพื่อให้บรรลุตามเป้าที่เราได้ตกลงกันไว้”เอสเปอร์ กล่าว

ที่จริงแล้ว การเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรสหรัฐ เพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศในอัตรา 2% ของจีดีพี ได้เคยมีการพูดกันมาแล้ว และส่วนใหญ่ เป้าหมายที่สหรัฐเล็งไว้ในประเด็นนี้คือเยอรมนี ที่มีการใช้จ่ายด้านการป้องกันประมาณ 1.3% ของจีดีพี ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ วิจารณ์ว่า ละเมิดข้อตกลงของกลุ่มนาโต้ เรื่องการบรรลุเป้าหมายการใช้จ่าย 2% ภายในปี 2567

เมื่อเดือนมิ.ย.ปีนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่าจะถอนทหารสหรัฐหลายพันนายออกจากเยอรมนี และในเดือนก.ค.กระทรวงกลาโหมสหรัฐประกาศเรื่องการโยกย้ายกำลังทหารและบุคลากร 11,900นายที่ประจำการอยู่ในเยอรมนีไปที่อื่น

160047682961

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ อ้างถึงสาเหตุที่เรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศก็เพราะท่าทีที่แข็งกร้าวและเพิกเฉยต่อพันธกิจของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็พยายามทำลายระเบียบโลกที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ต่อทั้งประเทศขนาดเล็กและประเทศขนาดใหญ่

นอกจากนี้ เอสเปอร์ยังเรียกร้องให้ญี่ปุ่น ที่ถือเป็นพันธมิตรที่มีความสนิทสนมกับสหรัฐอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า2เท่า

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณด้านการป้องกันประเทศปี 2563จำนวน 5.31 ล้านล้านเยน (50.5 พันล้านดอลลาร์ )ซึ่งถือว่าสูงที่สุดแล้ว แต่เมื่อเทียบกับจีดีพีประเทศแล้ว มีสัดส่วนเพียงแค่ 0.9% เท่านั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการใช้จ่ายด้านนี้อย่างระมัดระวังของกลุ่มประเทศในเอเชีย โดยพยายามคงการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศไม่ให้เกินกว่า1% ของจีดีพี โดยเฉพาะเกาหลีใต้และจีนที่ได้รับบทเรียนอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่2

ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส)ซึ่งมีฐานอยู่ในวอชิงตัน สหรัฐ ระบุว่า เมื่อเดือนพ.ค.จีนเผยร่างงบประมาณด้านการป้องกันประเทศมูลค่า 1.27 ล้านล้านหยวน (187 พันล้านดอลลาร์)หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของจีดีพีประเทศ นับตั้งแต่ปี 2543 และในปีที่ผ่านมา จีน เพิ่มกิจกรรมทางการทหารใกล้หมู่เกาะเซนกากุ ที่จีนและญี่ปุ่นมีกรณีพิพาทร่วมกันอยู่แต่จีนปฏิเสธว่าไม่ได้ต้องการแผ่อิทธิพลด้านการทหาร

“รัฐบาลสหรัฐ จะเป็นต้องเดินหน้าทำงานร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อผลักดันญี่ปุ่นให้ก้าวออกมาจากคอมฟอร์ทโซนและก้าวขึ้นมามีบทบาทด้านการป้องกันประเทศมากกว่านี้เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียไม่ถูกครอบงำจากอิทธิพลของจีน ”บรูซ คลิงเกอร์ นักวิจัยระดับอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจากศูนย์ศึกษาเอเชียของเฮริเทจ ฟาวเดชัน มีฐานดำเนินงานอยู่ในวอชิงตัน ระบุในรายงาน ซึ่งถูกตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อสัดาห์ที่แล้ว

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานวานนี้(18ก.ย.)ว่า จีนเริ่มซ้อมรบใกล้กับช่องแคบไต้หวัน ซึ่งการซ้อมรบครั้งนี้เป็นวันเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ เริ่มเดินทางเยือนกรุงไทเป ของไต้หวันเพื่อหารือกับคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลไต้หวัน โดยจีนไม่พอใจการเยือนไทเปของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐอย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนที่ตึงเครียดอยู่แล้ว ย่ำแย่ลงไปอีก

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า “คีธ ครัช” รัฐมนตรีช่วยฝ่ายกิจการเศรษฐกิจ จะเดินทางเยือนไต้หวันเพื่อร่วมพิธีรำลึกถึงอดีตประธานาธิบดีลี เต็ง-ฮุย ของไต้หวันในวันเสาร์นี้(19ก.ย.)ซึ่งการเยือนครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ “เดวิด สติลเวล” นักการทูตอาวุโสของสหรัฐประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า สหรัฐจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับไต้หวันผ่านทางการเจรจาด้านเศรษฐกิจทวิภาคีครั้งใหม่ โดยจะให้ครัชเป็นผู้นำในการเจรจา

แต่แถลงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ไม่ได้ระบุถึงการเจรจาดังกล่าว ขณะที่นักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งกันภายในรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไต้หวัน และความระมัดระวังในการสร้างความไม่พอใจให้กับจีนมากเกินไป

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา “หวัง เหวินปิน” โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวว่า จีนคัดค้านอย่างมากกับการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐและไต้หวัน และเตือนถึงความเสียหายร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐ

ด้านทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน แถลงว่า กำหนดการเดินทางเยือนไต้หวันของครัชจะเริ่มต้นตั้งแต่วันพฤหัสบดี(17ก.ย.) และครัชจะเข้าพบกับนางไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันในช่วงเย็นของวันศุกร์(18ก.ย.)

160047685265