หวัง ‘ดิจิทัลพีโลน’ ลดหนี้นอกระบบ

หวัง ‘ดิจิทัลพีโลน’ ลดหนี้นอกระบบ

“แบงก์ชาติ” เปิดเวที Bangkok Fintech Fair 2020 หนุนใช้ดิจิทัลเข้าสู่โลกใหม่ ชูสินเชื่อบุคคลดิจิทัล ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน ลดพึ่งหนี้นอกระบบได้ เล็งขยายหลักเกณฑ์เพิ่ม

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน ​Bangkok FinTech Fair 2020 “พร้อมรับวิถีใหม่ SME ก้าวต่อไปด้วยดิจิทัล” ว่า บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่ธปท.ได้พัฒนาขึ้นมา คือ สินเชื่อบุคคลดิจิทัล จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าสู่บริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลที่หลากหลาย ไม่ต้องดูเงินเดือนเป็นหลัก เพราะเราตระหนักว่า Digital footprint หรือรอยเท้าดิจิทัล เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถใช้เครื่องมือใหม่ๆในการติดตามลูกค้าได้

โดยดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรม ที่ธปท.เชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญในการตอบโจทย์เรื่องนี้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลทางการเงินแบบเดิม สลิปเงินเดือน หลักประกัน อีกทั้งสินเชื่อบุคคลดิจิทัลยังตอบโจทย์ด้านสภาพคล่องของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และธปท.เชื่อว่าจะสามารถลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม การกำหนดหลักเกณฑ์โดยกำหนดวงเงินกู้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อราย กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 6 เดือน ภายใต้ดอกเบี้ยรวมไม่เกิน 25% ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสินเชื่อประเภทนี้เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าอนาคตสามารถขยายผลต่อไปอีกได้

นายวิรไท กล่าวต่อว่า หากดูนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ที่เป็นกลไกสำคัญทำให้เกิดดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่นในวงกว้าง เช่นโครงการพร้อมเพย์ ที่ปัจจุบันมียอดการลงทะเบียนสูงสุดถึง 55.1 ล้านไอดี หรือคิวอาร์โค้ด ที่มีการต่อยอดจากพร้อมเพย์ มีการรับจ่ายเงินสูงถึง 6 ล้านไอดี 

อีกด้านที่ธปท.มีการพัฒนาต่อเนื่อง คือโครงการอินทนนท์ หรือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency ที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ล่าสุดได้นำระบบไปเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นหวังว่าในอนาคต Digital currency จะสามารถขยายผลไปใช้ในวงกว้างต่อไปมากขึ้น

ด้านนายสันติธาร เสถียรไทย Croup chief economist บริษัท Sea Grop กล่าวว่า เชื่อว่าสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เชื่อว่าจะสามารถลดช่องว่างของการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยจากผลศึกษากลุ่มคนรุ่นใหม่ของไทยเกือบ 1 หมื่นคนพบว่า 1 ใน 4 มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สูงกว่าภูมิภาค ที่อยู่เพียง 1 ใน 5 และพบว่าส่วนใหญ่คือกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ และเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า กลุ่มคนเหล่านี้มักเลือกพึ่งพาสถาบันการเงิน นอนแบงก์เป็นอันดับที่ 4 แต่ขณะที่ภูมิภาคเลือกพึ่งพาสถาบันการเงิน นอนแบงก์ก่อนเป็นอันดับที่ 3 หรือ 33% ดังนั้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนอีกมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ดังนั้นเชื่อว่าสินเชื่อบุคคลดิจิทัลจะสามารถเข้ามาตอบโจทย์ และปิดช่องว่างการเข้าถึงทางการเงินให้แคบลงได้ อีกทั้ง สินเชื่อบุคคลดิจิทัลจะเป็นจุดเริ่มต้น ให้เห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ ในอนาคตมากขึ้นในระยะข้างหน้า

นายรุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สินเชื่อบุคคลดิจิทัล จะถือเป็นแอร์เรียใหม่ของข้อมูล ในการใช้อุดช่องโหว่ให้กับแบงก์ และอุดช่องโหว่การเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้กู้ได้ และภายใต้ปัจจุบันที่หลายธนาคารกำลังมุ่งไปสู่โมบายแบงกิ้งแพลตฟอร์ม การนำข้อมูลใหม่เข้ามาใช้ ก็เท่ากับว่า กำลังพัฒนาทรานเซคชั่นเบสเลนดิ้ง บน Alternative data ซึ่งจะหนุนให้เกิดการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็ว ในปริมาณมากๆ ได้ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ให้กับสถาบันการเงิน นอนแบงก์ และผู้กู้ที่ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน