โบรกสั่งจับตา ‘ชุมนุมใหญ่’ วันนี้หวั่น ‘ยืดเยื้อ-รุนแรง’ ฉุดหุ้นไทยหลุด 1,200 จุด

โบรกสั่งจับตา ‘ชุมนุมใหญ่’ วันนี้หวั่น ‘ยืดเยื้อ-รุนแรง’ ฉุดหุ้นไทยหลุด 1,200 จุด

โบรกฯ สั่งจับตาการชุมนุมใหญ่วันนี้ ย้ำมีผลต่อแนวโน้มตลาดหุ้น “ทิสโก้” ห่วง “รุนแรง-ยืดเยื้อ” ฉุดหุ้นไทยรูดแตะ 1,200 จุด หากจบเร็วอาจเห็นยืนเหนือ 1,300 จุด

ด้าน บล.เอเซียพลัส ชี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอดูสถานการณ์ ขณะ “ทรีนีตี้” เทน้ำหนัก 80% ไม่รุนแรง แต่แนะผู้ลงทุนเลี่ยงหุ้นที่เสี่ยงโดนผลกระทบจากปัจจัยการเมือง

ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (18 ก.ย.) แกว่งตัวในกรอบแคบ นักลงทุนส่วนใหญ่รอดูสถานการณ์การเมืองในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะการชุมนุมครั้งใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย. เพื่อดูว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงหรือการชุมนุมดังกล่าวจะยืดเยื้อยาวนานหรือไม่ 

ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดวานนี้ที่ 1,288.39 จุด เพิ่มขึ้น 3.99 จุด คิดเป็น 0.31% มูลค่าการซื้อขายรวม 49,975 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,183 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 491 ล้านบาท พอร์ตโบรกเกอร์ ซื้อสุทธิ 588 ล้านบาท และนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 1,086 ล้านบาท

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองภายในประเทศช่วงนี้ ถือว่ามีน้ำหนักต่อการตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก ต้องติดตามดูการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาในวันที่ 19 ก.ย.นี้ว่าจะออกมารุนแรงและยืดเยื้อหรือไม่ รวมถึงติดตามการประชุมสภาในวันที่ 23-24 ก.ย.2563 ว่าจะมีการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่และในมาตราใดบ้าง

ทั้งนี้ แม้จะยังประเมินสถานการณ์ชุมนุมได้ค่อนข้างยาก เพราะไม่รู้สถานการณ์จะไปทางไหน แต่เบื้องต้นคาดว่าฝ่ายรัฐบาลคงไม่อยากทำอะไรที่รุนแรงในช่วงนี้ ซึ่งที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับทิศทางการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาว่าจะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะใด 

โดยประเมินว่าหากสถานการณ์การชุมนุมไม่รุนแรงหรือยืดเยื้อก็อาจส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นไทยไม่มากนัก โดยหากเป็นเช่นสมมุติฐานดังกล่าวคาดว่า ดัชนีหุ้นไทยก็คงไม่หลุดระดับ 1,250 จุด หรือเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 1,250-1,300 จุดได้ แต่หากการชุมนุมจบเร็วก็มีโอกาสที่จะเห็นดัชนีฯยืนเหนือ 1,300 จุดได้

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองมีความรุนแรงและยืดเยื้อ (กรณีเลวร้ายสุด) ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยก็มีโอกาสที่จะหลุดต่ำกว่าระดับ 1,250 จุดลงมาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 1,200 จุดต้นๆได้ แต่มองว่ายังมีความเป็นไปได้น้อยอยู่ ยกเว้นการชุมนุมทางการเมืองมีความรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือดหรือเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ภายในประเทศจนทำให้รัฐบาลต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ยังคงมุมมองดัชนีหุ้นไทยที่บริเวณ 1,250-1,280 จุด ซึ่งถือเป็นระดับดัชนีที่น่าทยอยซื้อสะสมเพื่อการลงทุน ซึ่งอิงมาจาก 1.ระดับค่าเฉลี่ยอัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า 12 เดือนที่ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 16-17 เท่า จากเดิมประมาณ 15-16 เท่าในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งจะได้ดัชนีที่เหมาะสมในช่วง 3 เดือนข้างหน้าหรือในไตรมาส 4 ปี 2563 ที่บริเวณ 1,221-1,297 จุด และควรจะอยู่สูงกว่าระดับ 1,300 จุดขึ้นไปในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า และ 2.การพักตัวทางเทคนิคตามหลัก “Fibonacci Retracement” โดยปัจจุบันดัชนีหุ้นไทยกำลังมีแนวโน้มพักตัวที่ระดับ 38.2% หรือคิดเป็นระดับดัชนีที่ที่ 1,269 จุด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส จำกัด กล่าวว่า การชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์จะออกมาทิศทางไหน เพราะขนาดรูปแบบการชุมนุมยังไม่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นในพื้นที่ใด จึงทำให้ภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้นักลงทุนยังอยู่ในภาวะ Wait & See เพื่อติดตามพัฒนาการของเหตุการณ์

ทั้งนี้คาดว่าหากสถานการณ์การเมืองในประเทศมีความร้อนแรงเกิดขึ้น (ภาวะตึงเครียดจนถึงขั้นนองเลือด) น่าจะกดดันให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงหลุดต่ำกว่าระดับ 1,270 จุดได้ แต่จะต่ำสุดไปถึงระดับไหนยังไม่สามารถระบุได้ ขณะที่หากสถานการณ์ไม่รุนแรงเชื่อว่าดัชนีฯน่าจะเคลื่อนไหวบริเวณ 1,270-1,300 จุดได้ พร้อมยอมรับว่าปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลเรื่องการเมืองเป็นอันดับแรก

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล. ทรีนีตี้ กล่าวว่า การชุมนุมในวันนี้ บริษัทให้น้ำหนัก 80% จะไม่เกินความรุนแรง และจะไม่ยืดเยื้อ คือไม่ได้ชุมนุมกันแบบข้ามคืน จะเป็นลักษณะแฟลชม็อบ แต่จะมีการกดดันรัฐบาลต่อเนื่อง

แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทย หากไม่เกิดความรุนแรงขึ้นจริง มีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยมองแนวต้านที่ระดับ 1,310 จุดแนวรับที่ระดับ 1,270 จุด แต่หากเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น มีความยืดเยื้อ มองแนวรับอยู่ที่ 1,250 จุด

ส่วนกลยุทธ์การลงทุน หากนักลงทุนที่มีความกังวลในเรื่องปัจจัยการเมืองนั้น แนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองและไม่เกี่ยวกับข้องกับอุปสงค์ภายในประเทศ คือ กลุ่มส่งออก เช่น ส่งออกอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ถุงมือยาง