'จตุพร' หวังผู้บริหาร 'มธ.' ให้ใช้พื้นที่ ผลักไป 'สนามหลวง' เท่ากับเร่งสถานการณ์

'จตุพร' หวังผู้บริหาร 'มธ.' ให้ใช้พื้นที่ ผลักไป 'สนามหลวง' เท่ากับเร่งสถานการณ์

"จตุพร" ชี้ "รัฐบาล" ควรอำนวยความสะดวก-ปลอดภัย "ม็อบ" เตือนถ้าสถานการณ์เลวร้าย จะรับผิดชอบไม่ไหว หวังผู้บริหาร "มธ." ให้ใช้พื้นที่ หากผลักไป "สนามหลวง" เท่ากับเร่งสถานการณ์

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟชบุ๊คไลฟ์ peace talk ตอนหนึ่งว่า ขอให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนที่มาชุมนุม 19 ก.ย. เพราะถ้าเกิดสถานการณ์เลวร้ายขึ้น จะทำให้รัฐบาลที่มีภูมิต้านทานเหนื่อยอ่อนรับผิดชอบเหตุการณ์ลุกลามไม่ไหว

 

นายจตุพร กล่าวว่า การชุมนุม 19 ก.ย.นี้ ทุกฝ่ายวิตกกังวลแตกต่างกัน พร้อมหวังว่าผู้บริหารธรรมศาสตร์จะเปลี่ยนใจให้ผู้ชุมนุมเข้าไปพื้นที่มหาวิทยาลัยได้ อีกทั้งผู้บริหารธรรมศาสตร์ควรคิดให้กว้างไกลกว่าลูกศิษย์ที่มาขอใช้พื้นที่ นอกจากนี้ การชุมนุมในมหาวิทยาลัยสามารถประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดูแลความปลอดภัยได้ดี แต่ธรรมศาสตร์กลับใช้วิธีปิดมหาวิทยาลัยหนีนักศึกษา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของตัวเอง แล้วผลักให้พวกเขาไปเสี่ยงอันตราย แม้ผู้บริหารธรรมศาสตร์ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมนี้ แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าคือ คนที่มหาวิทยาลัยผลักไปนั้น เป็นลูกศิษย์ตัวเอง 

 

"ธรรมศาสตร์ควรซึมซับทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 เนื่องจากเป็นประวัติศาสตร์ที่คนธรรมศาสตร์ต่างกล่าวขานถึง และปลุกสร้างคำพูดว่า ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน หรือธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่เมื่อถึงทางปฎิบัติเมื่อประชาชนต้องการใช้เสรีภาพ หรือให้นักศึกษาแสดงความรักกับประชาชน ดันปิดมหาวิทยาลัยหนีเสียอย่างนั้น" นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า ช่วงเหตุการณ์พฤษภา 35 ม.รามคำแหง เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนและประชาชนต้องการใช้พื้นทื่เป็นเรือนตาย เพื่อสร้างฐานที่มั่นสุดท้ายไว้สู้กับ รสช. ซึ่งรามคำแหงก็คืนมหาวิทยาลัยให้กับประชาชน เปิดห้องน้ำทุกห้อง รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้าไปอยู่ทุกอาคารเพื่อหลบภัยได้ เพราะมหาวิทยาลัยสร้างโดยภาษีของประชาชน 

 

ส่วนธรรมศาสตร์กลับผลักนักศึก ประชาชนไปชุมนุมสนามหลวง เท่ากับไปเร่งสถานการณ์ให้เดินไปทำเนียบรัฐบาลเร็วขึ้น ถ้านักศึกษาประกาศตัดโซ่ บุกเข้าพื้นที่ธรรมศาสตร์ แต่ผู้บริหารธรรมศาสตร์ไม่อยู่เลยนั้น อะไรจะเกิดความเสียหายมากกว่ากัน ควรต้องคิดและ ธรรมศาตร์ต้องคิดกันใหม่ 

อีกอย่าง รัฐบาลต้องรู้ว่าการชุมนุม 19 ก.ย.ประชาชนมามากจริงๆ และรัฐต้องมีหน้าที่รับผิดชอบทุกอย่าง เมื่อบอกห่วงใยลูกหลานตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ ดังนั้น รัฐต้องตั้งเต็นท์พยาบาล มีหน้ากากอนามัยแจก มีรถพยาบาลไว้บริการ ห้องน้ำสั่ง กทม.จัดเต็ม รวมทั้งดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดโดยร่วมมือกับผู้จัดการชุมนุม ถ้าทำเช่นนี้ได้ เหตุรุนแรงคงไม่เกิดขึ้น

วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจ แหล่งรายได้จากท่องเที่ยวพังหมด แต่สิ่งที่ควรสร้างขึ้นคือความเชื่อมั่นของคนในประเทศ อย่าให้คนอยู่ด้วยความสิ้นหวัง นอกจากนี้ ในปัจจุบันไม่มีใครกลัวโควิด-19 แล้ว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสามารถจบลงด้วยสันติวิธีได้ 

 

“สิ่งสำคัญ เมื่อนักศึกษา ประชาชนตัดสินใจลงถนน เท่ากับบ่งบอกถึงการเลือกแนวทางสันติวิธีพวกเขาเลือกเป็นขบวนการต่อสู้ทางการเมือง ใช้ความเป็นเหตุเป็นผล พวกเขาไม่ใช่ขบวนการต่อสู้ทางการทหารที่ต้องสู้กันด้วยกำลังอาวุธ ดังนั้น ขบวนการทางการเมืองจึงควรมีความเปิดเผย ชัดเจน ปราศจากความลับ เพื่อประชาชนจะได้รับรู้ โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางต้องพูดคุยกันให้เข้าใจ”

 

นายจตุพร กล่าวว่า ตนเรียกร้องให้ยึดหลัก 3 ข้อ 2 จุดยืน 1 ความฝัน ซึ่งเป็นภูมิต้านทานในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ ขณะเดียวกันเมื่อมีคนกล่าวหาขบวนการการนักศึกษา ประชาชนแล้วแต่ไม่ชี้แจงจึงทำให้เกิดความห่วงใย หากมีฝ่ายอื่นจัดตั้งคนอื่นไปกระทำการแล้วจะเป็นเรื่องเกิดผลเสียกับขบวนการนักศึกษา

 

"การชุมนุม 19 ก.ย.ต้องหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะกระทบความรุนแรงทุกรูปแบบ พร้อมทั้งรัฐต้องรับผิดชอบสูงสุด นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามที่พูดว่าจะปฏิบัติเหมือนลูกหลานตัวเอง สิ่งที่รัฐต้องพึงระวัง คือ การสร้างสถานการณ์ของมือที่ 3 เท้าที่ 4"

 

นายจตุพร ยกกรณีเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า ช่วงการชุมนุมล้วนแต่มีคนสร้างสถานการณ์กัน เช่น ให้กลุ่มคนมาปล่อยลมรถนักข่าว หรือตะโกนไล่หลังขณะสัมภาษณ์สื่อ ซึ่งการสร้างสถานการณ์จึงเกิดเหตุทุกอย่าง ป้องกันได้ยาก ไม่รู้ใครเป็นใคร ดังนั้น เวลาจัดการชุมนุมต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ต้องตรงไปตรงมา อย่างน้อยต้องใช้ความสุจริตใจในการจัดการชุมนุม มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ร่วมเป็นการ์ด เปิดทางให้เข้าพื้นที่ได้ทุกเวลา ไม่มีความลับอะไร 

 

นอกจากนี้ การชุมนุมต่อสู้ในหลายเหตุการณ์ ล้วนมีบทเรียนให้ศึกษากัน เช่น 14 ตุลา 16 แม้การชุมนุมยุติ แต่มีคนไม่ต้องการให้จบ ส่วน 6 ตุลา 19 มีคนสร้างสถานการณ์ต้องการให้เกิดความตายขึ้น และพฤษภาทมิฬ 35 ก็ลงท้ายด้วยการยิงคนอย่างบ้าคลั่ง แล้วความตายมากมายเกิดในเมษา-พฤษภา 53 

 

บทเรียนเหล่านั้น บอกว่า ประวัติศาสตร์ไม่ได้สอนให้คนกลัว คนกล้าเกิดมีขึ้นทุกยุคทุกสมัยส่วนการชุมนุมครั้งนี้จะเป็นสิ่งสวยงามที่สุด เพราะคนมาร่วมมากที่สุด เป็นการประกาศแนวทางตรงไปตรงมาที่สุด และฝ่ายรัฐยังประกาศให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ รวมทั้ง ถ้าผู้บริหารธรรมศาสตร์กับนักศึกษาคุยกันได้ ตกลงกันได้อีก ยิ่งจะทำให้ลดความเสียหายลง แค่นี้ทุกอย่างจบเรื่องแบบสันติ

 

อีกทั้ง ที่สำคัญคือ การจัดชุมนุมต้องแสดงเจตนาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการแทรกแซง เพราะประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ถ้าต้องการให้เกิด  ดังนั้นอะไรสามารถป้องกันประชาชนได้ก็ต้องทำ

"การชุมนุม 19 ก.ย.นี้ รัฐบาลต้องอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนและควรท่องคาถาไว้ว่า มีอะไรรัฐบาลต้องรับผิดชอบ สถานการณ์รัฐบาลขณะนี้มีภูมิต้านทานที่เหนื่อยอ่อนอยู่แล้ว จึงอย่าให้การชุมนุมครั้งนี้เป็นชนวนน้ำผึ้งหยดเดียว เพราะภายใต้ความเดือดร้อนทั้งปวงนั้น ไม่รู้ว่าจะลุกลามให้เกิดสถานการณ์เลวร้ายได้ขนาดไหน”นายจตุพร กล่าว