วิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 'เจ็บนาน-ต้องอดทน'

วิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 'เจ็บนาน-ต้องอดทน'

ปัญหาเศรษฐกิจไทยหดตัวยกระดับถึงวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งแง่จีดีพีที่หดตัว ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจภาคเอกชนถดถอย สะท้อนถึงความเปราะบางความอยู่รอดของธุรกิจที่อุ้มแรงงานไว้จำนวนมากการฟื้นตัวไม่จบง่ายๆ ยาวไปอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี นับเป็นโจทย์สำคัญท้าทายรัฐบาลอย่างมาก

วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดในปี พ.ศ.2563 ต่างไปจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่เกิดเมื่อยี่สิบกว่าปี ที่ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจระดับจุลภาคลงไปจนถึงชาวบ้านรอบนี้ต้องยอมรับว่าหนักหนาสาหัส เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ไปทั้งโลก แต่สำหรับประเทศไทยต้องยอมรับว่า “ศบค.” (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย) และทีมแพทย์ดีมากเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จผ่านพ้นจากการ แพร่ระบาดติดเป็นอันดับ 4 ของโลก

ที่กล่าวมาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ด้านเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับที่สูงมาก การฟื้นตัวจึงไม่ได้มาจากการขับเคลื่อนในประเทศตราบใดที่โลกยังไม่สามารถยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ก็ยังไม่สามารถเริ่มต้นนับหนึ่งได้ 

ผลกระทบที่ชัดเจนใกล้ตัวประชาชนคือ ความไม่แน่นอนของการจ้างงาน ถึงแม้หลังการคลายล็อกแรงงานที่ตกงานไปก่อนหน้านั้นไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน ส่วนใหญ่จะสามารถกลับเข้าทำงาน แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว กำลังเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องปิดตัวไปจำนวนมาก ส่วนที่ยังทนอยู่ล้วนขาดสภาพคล่องยกเว้นเงินหนาจริงๆ 

ถึงแม้โครงการส่งเสริมท่องเที่ยวภายในประเทศยังมีข้อจำกัดเรื่องวันเดินทาง ส่วนใหญ่จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาว ส่วนวันธรรมดาเงียบ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลักคือเงินในกระเป๋าของประชาชนมีจำกัด และยังมีข้อกังวลรายได้ในอนาคต ตลอดจนความเชื่อมั่นในด้านสุขภาพ ส่วนหนึ่งไม่เที่ยวไกลเพื่อหลีกการขึ้นเครื่องบิน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย รวมไปถึงร้านอาหาร สายการบินต่างๆ ยังคงมืดมนเพราะไม่รู้ว่าต่างชาติจะกลับเมื่อใด 

ด้านค้าปลีกเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ใกล้ตัว จากข้อมูลของผู้ประกอบการกล่าวว่า ถึงแม้เศรษฐกิจของไทยจะคลายล็อกไปหมดแล้ว แต่กำลังซื้อไม่เหมือนเดิม สะท้อนจากตัวเลขการบริโภคเอกชนเดือนที่ผ่านมายังชะลอตัวสูงถึงติดลบ 6.6% เงินเฟ้อยังติดลบ แม้แต่ของอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นก็พบว่ายอดขายก็ยังต่ำ ทำให้ห้างใหญ่ๆ ในช่วงนี้ต่างออกแคมเปญปรับกลยุทธ์เพิ่มยอดขาย ตัวเลขของอุตสาหกรรมขายปลีกเดือน มิ.ย.ซึมหนัก เพราะหดตัว 9.8%  

เหตุผลสำคัญที่ภาครัฐจะต้องเข้าใจคือ ยังมีคนตกค้างไม่สามารถหางานได้อีกไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่กลับไปชนบท ทำให้กำลังซื้อหายไปไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3.6 หมื่นล้านบาท จำนวนแรงงานที่ถูกลดเงินเดือนแค่จากสถานประกอบการที่มาขึ้นทะเบียนหยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 เดือน ก.ค.มีถึง 3,985 กิจการคิดเป็นจำนวนแรงงาน 8.026 แสนคน ยังไม่รวมแรงงานประกันสังคม (มาตรา 33) จำนวน 9.1 แสนคน ซึ่งขอเยียวยาเงินช่วยเหลือ 

การว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งโครงการปิดไปแล้วแต่ยังไม่มีการสำรวจว่าแรงงานเหล่านี้ยังมีการจ้างงานหรือเลิกจ้างไป จำนวนมากน้อยเพียงใด ที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่หายไป อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ย เดือนละ 3.3 ล้านคนหายไป 100% ทำให้ผู้คนระมัดระวังรัดเข็มขัดการใช้จ่าย กลับมาดูภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแรงงานประมาณ 6 ล้านคน หลังการคลายล็อกทำให้ตัวเลขการผลิตเริ่มกลับมา แต่ระดับดัชนีเชื่อมั่นถึงแม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ

ดัชนีชี้วัดของภาคอุตสาหกรรมคือ กำลังการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ อีกทั้งตัวเลขการส่งออกในเชิงปริมาณยังหดตัวสูง ขณะที่อุตสาหกรรมส่งออก 2 ใน 3 มูลค่า การส่งออกยังหดตัวต่อเนื่องมา 18 เดือน ถึงแม้เดือน ก.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ดีอกดีใจว่าฟื้นแล้ว แต่ตัวเลขส่งออกยังหดตัว 11.37% แต่ก็ถือว่ามีสัญญาณที่ดีดัชนีที่แสดงถึงเศรษฐกิจของไทยที่ชัดเจนคือตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุน ประเภทเครื่องจักรยังหดตัวรุนแรงต่อเนื่องมาอย่างน้อย 4 เดือน เดือน ก.ค.หดตัวถึง 25% แสดงให้เห็นว่า การลงทุนใหม่ระยะสั้นยังไม่มา ขณะเดียวกันดัชนีนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตทั้งเพื่อส่งออกและขายในประเทศหดตัวอย่างน้อย 4 เดือน ช่วงเดือนที่ผ่านมาหดตัวถึง 24% บ่งชี้ว่าการบริโภคและตัวเลขการส่งออกจะยังไม่กลับคืนมา 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เพื่อให้เห็นว่าปัญหาของเศรษฐกิจหดตัวได้ยกระดับไปถึงวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่จีดีพีที่หดตัว รวมถึงดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจภาคเอกชนล้วนถดถอย สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของความอยู่รอดของธุรกิจต่างๆ ที่อุ้มแรงงานไว้จำนวนมาก ทำให้ตลาดแรงงานมีความเสี่ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานจะต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่าใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการจ้างงานและอัตราการว่างงาน ซึ่งยังเป็นข้อกังขาว่าสะท้อนความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด 

การได้ข้อมูลที่เพี้ยนย่อมทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด อย่าใช้มาตรการเลื่อนลอยให้ดูตัวอย่างทีมเศรษฐกิจชุดเดิมทำมา 5-6 ปี นำพาเศรษฐกิจมาอยู่ถึงตรงนี้อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะคนที่รับเคราะห์คือประชาชน ตลอดจนนายจ้างและแรงงาน รวมถึงครอบครัวของเขาทั้งหลาย 

ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้หนักหนามากในรอบศตวรรษเป็นโจทย์ยากท้าทายทีมงานเศรษฐกิจที่ต้องเป็นมืออาชีพ ทำงานเป็นทีม ต้องเตรียมกระสุนในรูปของงบประมาณให้เพียงพอ เพื่ออัดฉีดทั้งการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานไปพร้อมกัน การฟื้นตัวอย่าคิดว่าจะจบได้ง่ายๆ ยังอีกยาวไม่น้อยกว่า 2 ปี ไม่ใช่เรื่องที่จะฝันหวานเพ้อเจ้อ หรือทำงานแบบการเมืองอยู่ไปวันๆ นะครับ