เสาะหา 'โอกาส' ท่ามกลางวิกฤติ

เสาะหา 'โอกาส' ท่ามกลางวิกฤติ

ท่ามกลางวิกฤติที่กำลังดำเนินอยู่ ดูเหมือนเป็นตัวเร่งให้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เทคโนโลยีเป็นอีกเรื่องที่กระทบส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายบริบท ดังนั้นไทยต้องมีแผนรองรับและแผนตั้งรับให้ดี รวมถึงพยายามเสาะหาโอกาสท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้

โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับพลัน แน่นอนว่ากระทบต่อการดำเนินธุรกิจ สะเทือนวิถีการใช้ชีวิตของเราทุกคน วิกฤติโควิด-19 เป็นหนึ่งในบทเรียนที่ทำให้ทั้งโลกรู้ว่า การเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่ยากต่อการควบคุม มีความสำคัญมากแค่ไหน วันที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก เราคงไม่เคยคิดว่า โลกยุคใหม่ที่เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ความคิดที่ชาญฉลาดของมนุษย์ในยุคนี้ จะต้องโดนถูกคุกคามจากโรคระบาดครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ที่ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน ทุกคนทุกระดับ และยังไม่มีวิธีที่จะ “หยุด” โรคนี้ได้

วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ แตกต่างจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่จะกระทบเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ทั้งต้องยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิธีคิดของคนทั้งด้านสังคมและธุรกิจไปตลอดกาล ขณะที่สถานการณ์โควิดภายในประเทศไทยเองนั้น ก็ยังไม่สามารถที่จะไว้วางใจได้ คนไทยยังคงต้องตั้งการ์ดให้สูงอย่างต่อเนื่อง ดูแลสุขอนามัยของตัวเอง มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น อย่าประมาทเป็นอันขาด เพราะเรายังมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดการระบาดของโควิดระลอก 2 อีกได้ทุกเมื่อ และคงต้องยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศที่ยังทรุดหนัก กดดันให้ภาครัฐเองกำลังพิจารณาที่จะเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวเข้ามาสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนั่นหมายความว่า เราจะยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้นอีกหลายเท่า 

ท่ามกลางวิกฤติที่กำลังดำเนินอยู่ และดูเหมือนจะเป็นตัวเร่งให้โลกยิ่งเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากขึ้น “เทคโนโลยี” เป็นอีกเรื่องที่กระทบและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายบริบท เพราะวันนี้ เราไม่ได้เพียงกำลังก้าวเข้าสู่โลกยุคอัจฉริยะเท่านั้น แต่โลกอัจฉริยะได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว โลกที่กำลังอาศัยอยู่ค่อยๆ ผันเปลี่ยนทีละน้อย สู่การใช้เทคโนโลยีและสัญญาณดิจิทัล รู้สึกตัวอีกครั้งมนุษย์เราก็ได้เชื่อมต่อและเชื่อมโยงเข้ากับเครื่องจักรกลต่างๆ อย่างแยกจากกันไม่ขาด เราได้ยินชื่อเทคโนโลยีประเภทต่างๆ หนาหูมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ เอไอ 5จี ที่กำลังคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ทำให้เราอยู่ง่ายขึ้น ตอบสนองไวขึ้น อัตโนมัติยิ่งขึ้น ทำธุรกิจคล่องตัวขึ้น 

ในขณะที่งานวิจัยของต่างประเทศหลายครั้ง ต่างเห็นสอดคล้องกันว่า ภายในปี 2030 เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอีกราว 47 ล้านคน สอดคล้องกับผลการสำรวจซีอีโอในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัท PwC ที่ชี้ให้เห็นว่า ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่าครึ่งกำลังประสบความท้าทายด้านการหาผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่มีความสามารถตรงตามต้องการมาร่วมงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะประเทศไทย แต่ทุกประเทศก็ประสบปัญหาในลักษณะนี้เหมือนกันทั้งหมด อยู่ที่ว่าแต่ละประเทศจะมีแผนรับมือและก้าวข้ามผ่านความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร ดังนั้นประเทศไทยต้องมีแผนรองรับ และแผนตั้งรับให้ดี พร้อมกับพยายามเสาะหา “โอกาส” ในท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ให้ได้