ศึกชิง ‘สายสีส้ม’ เดือด! ‘บีอีเอ็ม-บีทีเอส' สู้สุดตัว

ศึกชิง ‘สายสีส้ม’ เดือด! ‘บีอีเอ็ม-บีทีเอส' สู้สุดตัว

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นโครงการประมูลใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

หลังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนมาแล้วหลายครั้ง ก่อนที่ ครม. จะเห็นชอบให้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP Net Cost มูลค่าโครงการรวม 142,789 ล้านบาท

โดยรายละเอียดของโครงการครอบคลุมงานออกแบบและก่อสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด 11 สถานี และงานติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย ตั้งแต่มีนบุรี-บางขุนนนท์ ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร

ด้วยศักยภาพของเส้นทางเดินรถที่วิ่งผ่านย่านเมืองเก่าและใจกลางเมือง เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกไว้ด้วยกัน แถมยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลักทุกสาย จึงได้รับความสนใจอย่างมากจากภาคเอกชน ตบเท้าเข้าซื้อซองประมูลถึง 10 บริษัท

ประกอบด้วย 1.บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 2.บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS 4.บริษัทซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 5.บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD

6.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH 7.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK 8.บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF 9.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด และ 10.บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

ซึ่งตามกำหนดการเดิม รฟม. จะเปิดให้ยื่นซองข้อเสนอราคาในวันที่ 23 ก.ย. นี้ แต่สุดท้ายแล้วมีเหตุให้ต้องเลื่อนออกไป หลัง ITD ร้องให้แก้เกณฑ์ประมูลใหม่ โดยไม่ควรพิจารณาจากผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคอื่นๆ ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพของผู้ประมูลควบคู่ไปด้วย

เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ มีความเสี่ยงสูงมากโดยเฉพาะงานโยธาฝั่งตะวันตกที่ต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินตลอดสาย ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่โบราณสถานสำคัญ และลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา จึงต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างชั้นสูงจากผู้ที่มีประสบการณ์

ในเวลาต่อมา รฟม. โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มีมติปรับเกณฑ์การประมูลใหม่ โดยไม่ได้ดูเกณฑ์ด้านราคาอย่างเดียว แต่ให้พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่ไปด้วย แบ่งเป็นเทคนิค 30% และ ราคา 70% พร้อมยืนยันว่าการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลใหม่ ไม่ใช่เพราะเอกชนเรียกร้อง แต่เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่หลักเกณฑ์เดิมที่ประกาศให้ซื้อซองประกวดราคาเกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ร่วมทุน ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้

และการเพิ่มเงื่อนไขการประมูลในช่วงที่ขายทีโออาร์ไปแล้วสามารถทำได้ ไม่ผิดหลักเกณฑ์ข้อกำหนด ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง เพราะได้ขยายเวลายื่นข้อเสนอภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ออกไปอีก 45 วัน เป็นวันที่ 6 พ.ย. 2563 เพื่อให้เอกชนได้เตรียมตัวอย่างเท่าเทียม

แน่นอนว่าย่อมมีคนไม่เห็นด้วย โดย BTS ได้ออกมาคัดค้าน โดยมองว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังการขายซองข้อเสนอราคาไปแล้ว ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และเตรียมที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

ทำให้การประมูลครั้งนี้น่าจับตามองยิ่งนักว่าหวยจะออกไปทางไหน แม้ BTS จะออกมาค้านสุดตัว แต่ถ้าในท้ายที่สุดแล้ว หากต้องใช้หลักเกณฑ์ใหม่จริง บริษัทก็พร้อมที่จะร่วมประมูล แสดงให้เห็นว่าเอกชนตั้งความหวังกับโครงการนี้ไว้สูงมาก

ถ้าพูดกันตามตรงแล้ว โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าเมืองไทย BTS และ BEM เพราะแน่นอนว่าถ้าใครได้งานเดินรถสายสีส้มไปจะช่วยต่อยอดการให้บริการอีกมากมาย เพราะมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ครบทุกสาย

โดย BEM อาจมีความได้เปรียบในแง่ของการให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน การก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินและลอดแม่น้ำเจ้าพระยาของบริษัทแม่ CK ที่มีประสบการณ์มาแล้วในสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค ขณะที่ BTS ตั้งความหวังไว้สูง มีพันธมิตรยักษ์ใหญ่พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเต็มที่ ด้วยฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง จึงพร้อมสู้หมดหน้าตักในการชิงสายสีส้มที่จะเป็นเส้นทางหลักเส้นทางใหม่ ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการที่ประเมินไว้สูงถึง 4 แสนคนต่อวัน