พลังงานลุยใช้งบกว่า14ลบ.โปรโมทโรงไฟฟ้าชุมชน

พลังงานลุยใช้งบกว่า14ลบ.โปรโมทโรงไฟฟ้าชุมชน

พพ. เตรียมใช้งบกองทุนอนุรักษ์ฯปี63 กว่า 14 ล้านบาท เดินหน้าประชาสัมพันธ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน และลงพื้นที่ประเมินผลโครงการฯ คาดเริ่มดำเนินการหลังคลอดหลักเกณฑ์ใหม่ฯ จ่อนำร่องประกาศรับซื้อไฟ 100 เมกะวัตต์ ปลายปีนี้

นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ.อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือตอบกลับไปยังสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ) เพื่อยืนยันว่า จะขอใช้งบดำเนินโครงการสื่อสารสร้างการรับรู้ตามนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ได้รับอนุมัติจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(กองทุนอนุรักษ์ฯ) ประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินกว่า 14 ล้านบาท อย่างแน่นนอน พร้อมยืนยันว่า กระทรวงพลังงาน ไม่มีนโยบายล้มเลิกโครงการนี้ แต่อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการให้โครงการนี้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและเกษตรกรอย่างแท้จริง

โดยงบประมาณที่ได้รับจากกองทุนอนุรักษ์ฯนั้น พพ.จะนำมาใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ แต่การดำเนินงานประชาสัมพันธ์โครงการนั้น ยังจะต้องรอการปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการใหม่ ให้ชัดเจนก่อน เพื่อที่จะได้จัดทำรูปแบบการประชาสัมพันธ์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป รวมถึงจะนำงบประมาณฯ ได้ใช้สำหรับการประเมินผลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละราย ซึ่งจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการจริง เช่น มีพื้นที่ปลูกพืชจริงหรือไม่ พื้นที่โครงการอยู่ที่ใด เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงรูปแบบโครงการในอนาคต

สำหรับหลักเกณฑ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯใหม่ เบื้องต้น ยังยึดโครงสร้างหลักไว้ตามรูปแบบเดิม แต่จะปรับปรุงในส่วนของรายละเอียดวิธีดำเนินการในบางส่วน โดยคาดว่า จะจัดทำโครงการนำร่อง 100 เมกะวัตต์ก่อน ซึ่งอาจแบ่งการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง เช่น โรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวล รับซื้อประมาณ 50 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ประมาณ 20 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงอื่นๆ เป็นต้น โดยจะกำหนดให้โครงการที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ภายในระยะเวลา 12 เดือน หลังลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว โดยคาดว่า จะสามารถประกาศเปิดโครงการได้ภายในปลายปี 2563 และเริ่มการลงทุนก่อสร้างได้ในต้นปี 2564

 

ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2563 ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้รับจัดสรร 10 โครงการ รวมวงเงิน 480 ล้านบาท โครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในเขตพระราชฐานระยะที่6 ,โครงการ Thailand Energy Awards 2020 ,โครงการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานควบคุม , โครงการสื่อสารสร้างการรับรู้ตามนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ทางกระทรวงพลังงาน ได้นำเสนอร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018 Rev.1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ซึ่งเป็นแผนที่รองรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีกครั้ง ซึ่งก็ต้องรอติดตามผลการพิจารณา แต่ไม่ว่าแผน PDP 2018 จะผ่านการอนุมัติหรือไม่ ก็ยังสามารถเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนในส่วนของโครงการนำร่องได้อย่างแน่นอน

สำหรับสาระสำคัญของแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า ช่วงปีระยะ 7 ปี (2563-2570) จะมีการลงทุนโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นดังนั้น 1.การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 5,901 เมกะวัตต์ 2. การลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของเอกชน 6,940 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)แล้ว

3.การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 1,214 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นที่มีสัญญาแล้ว 514 เมกะวัตต์ และเปิดรับซื้อใหม่ 700 เมกะวัตต์ 4.รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่มีสัญญาผูกพันเดิม 1,179 เมกะวัตต์ และ 5. เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่ 2,973 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าพลังงานลม 270 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโซลาร์ภาคประชาชน 250 เมกะวัตต์