ร.ฟ.ท.ลงทุนเพิ่ม 3.47 หมื่นล้าน รับรถไฟทางคู่ ปั้นรายได้เพิ่มจากการขนส่งสินค้า

ร.ฟ.ท.ลงทุนเพิ่ม 3.47 หมื่นล้าน รับรถไฟทางคู่ ปั้นรายได้เพิ่มจากการขนส่งสินค้า

"ร.ฟ.ท." ทุ่ม 3.47 หมื่นล้านลุยจัดซื้อ “รถโดยสาร - แคร่ขนสินค้า” รองรับทางคู่ 7 เส้นเฟส1 แล้วเสร็จปี 65 หวังปั้นรายได้ขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ เผยทางคู่สายใต้ นครปฐม - ชุมพร คืบหน้ากว่า 67%

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยระหว่างการตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม - ชุมพร โดยระบุว่า นโยบายในการขับเคลื่อนองค์กรที่ตนตั้งเป้าไว้ มี 3 ส่วนหลัก คือ 1.ปรับกระบวนการการทำงาน โดย ร.ฟ.ท.จะต้องหารายได้และกำไรให้มากขึ้น เพื่อให้การบริการประชาชนควบคู่ไปกับความคาดหวังสร้างรายได้ดูแลองค์กรโดยไม่เป็นภาระของรัฐบาลอย่างที่ประชาชนคาดหวัง

2.วางแพลตฟอร์มใหม่ให้กับ ร.ฟ.ท. โดยเฉพาะเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร ที่จะต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการแข่งขัน ส่วนกรณีที่ในอนาคตจะมีการเปิดให้เอกชนเข้ามามีสิทธิร่วมเดินรถ ใช้ระบบรางนั้น ก็ถือเป็นเรื่องของอนาคต แต่ขณะนี้คน ร.ฟ.ท.ต้องเริ่มปรับตัว

และ 3.ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งหารายได้ให้มากขึ้น โดยกระจายธุรกิจไปยังการขนส่งสินค้าและพัสดุ เนื่องจากมีรายได้ดีกว่าการขนส่งผู้โดยสาร อีกทั้งปัจจุบันยังมีโอกาสในธุรกิจกลุ่มนี้อีกมาก

อย่างไรก็ดี จากเป้าหมายของการเพิ่มรายได้ขนส่งสินค้าและพัสดุ ร.ฟ.ท.จึงมีแผนจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บทต.) หรือแคร่ จำนวน 965 คัน เพื่อนำมาให้บริการขนส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขยายตลาดการขนส่งสินค้าเพิ่มเติม โดยล่าสุด ร.ฟ.ท.ยังได้หารือกับผู้ประกอบการเกลือ เพื่อทดลองขนส่งเกลือจากจังหวัดนครราชสีมา มายังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งในปีแรกของการขนส่งนี้ คาดว่าจะขนางได้ในปริมาณราว 4 แสนตัน

“ออเดอร์จากการขนส่งเกลือนี้ ถือเป็นการเปิดศักราชให้กับการรถไฟฯ ในธุรกิจขนส่งสินค้า ซึ่งเกลือเป็นสินค้าที่มีการขนส่งในประเทศสูงมาก ปีละเป็นล้านตัน โดยปริมาณการขนส่งผ่านรถไฟ เราก็คาดว่าจะขยายขึ้นต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการขยายรถไฟทางคู่ เพราะวันนี้เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า เรายังมีเครื่องมีไม่พร้อม เราจึงเร่งพยายามหาแคร่เข้ามาเพิ่มรองรับขนส่งสินค้าเหล่านี้”

นายนิรุฒ ยังกล่าวด้วยว่า ร.ฟ.ท.ยังเตรียมลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการขนส่งพัสดุกับไปรษณีย์ไทยในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้การขนส่งประเภทนี้มีอัตรากำไรเบื้องต้น (Margin) มากกว่าการขนส่งสินค้า และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ ร.ฟ.ท.มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายได้การเดินทางของผู้โดยสาร และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบ เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่น ที่สามารถช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเช็คสถานะรถไฟ หรือลูกค้าขนส่ง สามารถเช็คพัสดุจากแคร่ได้ทันที

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่า ร.ฟ.ท เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดหาแคร่สินค้าจำนวน 965 คัน โดยระบุด้วยว่า ร.ฟ.ท.มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการจัดหาแคร่ เพื่อให้ทันกับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางที่จะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2565 เนื่องจากเมื่อทางคู่แล้วเสร็จ จะมีสถานีเก็บและกระจายตู้สินค้า (CY) เพิ่มจำนวนมากตามแนวเส้นทางรถไฟ เพื่อรองรับการให้บริการขนส่งสินค้าทางคอนเทนเนอร์

อย่างไรก็ดี โครงการจัดหาแคร่ เบื้องต้น ร.ฟ.ท. ประเมินว่า อาจใช้เงินลงทุนราว 2 - 2.2 พันล้านบาท โดยขณะนี้ได้นำเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาเห็นชอบแล้ว หากผ่านการพิจารณาเห็นชอบก็จะเสนอขอความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าหมายที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในปีนี้ เพื่อดำเนินการเปิดประมูลภายในปี 2564 และเริ่มทยอยรับมอบแคร่ล็อตแรกในปี 2565

สำหรับปัจจุบันผู้ประกอบการเอกชนแสดงความสนใจใช้บริการขนส่งสินค้าทางคอนเทนเนอร์เป็นจำนวนมาก อาทิ บริษัท ทีพีไอโพลีน มีความต้องการจะขนส่งปูนซีเมนต์ มากกว่าปีละ 2 ล้านตัน

นายสุจิตต์ ยังเผยด้วยว่า ร.ฟ.ท.เตรียมที่จะผลักดันการจัดหาโครงการสำคัญอีก 2 โครงการ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนา ร.ฟ.ท ในช่วงปี 2564 - 2568 ได้แก่ โครงการจัดหารถดีเซลรางเชิงสังคม จำนวน 216 คันวงเงิน 1.62 หมื่นล้าน และโครงการจัดหารถดีเซลรางโดยสารแบบชุดจำนวน 273 ตู้ วงเงิน 9.5 พันล้าน - 1.63 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของรถดีเซลรางโดยสารแบบชุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเสนอให้คณะกรรการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท พิจารณาอนุมัติ

ทั้งนี้ 3 โครงการข้างต้น คือ การจัดหาแคร่ 965 คัน การจัดหารถดีเซลรางเชิงสังคม 216 คัน และจัดหารถดีเซลรางโดยสารแบบชุด 273 ตู้ ร.ฟ.ท. จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มรายได้ ซึ่งงบประมาณโดยรวมที่ต้องจัดใช้อยู่ที่ประมาณ 3.47 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.39 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างคืบหน้า 67.05% ล่าช้ากว่าแผน 7.89% โดยสัญญาที่ 1 นครปฐม-หนองปลาไหล 93 กม. บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง 1964 จำกัด เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 68.93% เร็วกว่าแผน 0.21%, สัญญาที่ 2 หนองปลาไหล-หัวหิน 76 กม. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 72.05% เร็วกว่าแผน 2.70%

สัญญาที่ 3 หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 74.39% เร็วกว่าแผน 0.25%, สัญญาที่ 4 ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย 88 กม. กิจการร่วมค้า เคเอส-ซี เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 65.13% ล่าช้ากว่าแผน 30.59% และสัญญาที่ 5 บางสะพานน้อย-ชุมพร 80 กม. กิจการร่วมค้า เอสทีทีพี เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 55.72% ล่าช้ากว่าแผน 15.66% อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าการก่อสร้างจะยังคงเป็นตามแผนที่วางไว้ โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2564 และพร้อมเปิดให้บริการปี 2565

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.39 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างคืบหน้า 67.05% ล่าช้ากว่าแผน 7.89% โดยสัญญาที่ 1 นครปฐม-หนองปลาไหล 93 กม. บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง 1964 จำกัด เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 68.93% เร็วกว่าแผน 0.21%, สัญญาที่ 2 หนองปลาไหล-หัวหิน 76 กม. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 72.05% เร็วกว่าแผน 2.70%

สัญญาที่ 3 หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 74.39% เร็วกว่าแผน 0.25%, สัญญาที่ 4 ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย 88 กม. กิจการร่วมค้า เคเอส-ซี เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 65.13% ล่าช้ากว่าแผน 30.59% และสัญญาที่ 5 บางสะพานน้อย-ชุมพร 80 กม. กิจการร่วมค้า เอสทีทีพี เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 55.72% ล่าช้ากว่าแผน 15.66% อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าการก่อสร้างจะยังคงเป็นตามแผนที่วางไว้ โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2564 และพร้อมเปิดให้บริการปี 2565