ไทยแก้ปมซาก 'อิเล็กทรอนิกส์' ชี้เป็นภัยมืดลุยระบบจัดการ

ไทยแก้ปมซาก 'อิเล็กทรอนิกส์' ชี้เป็นภัยมืดลุยระบบจัดการ

รัฐ-เอกชน ผนึกกำลังจัดทำโครงการกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ใน 15 เดือน หวังนำข้อมูลส่งต่อกรมควบคุมมลพิษ จัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ แก้ปัญหาซากขยะล้น คาดบังคับใช้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศปลายปี64

การสำรวจข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สถานการณ์ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย มีปริมาณมากกว่า 400,000 ตันต่อปี และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันกำจัดไปได้ไม่ถึง 1% ของปริมาณดังกล่าว

ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่มีระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่เหมาะสมและครอบคลุมทั้งการจัดเก็บ การรวบรวม การคัดแยก การถอดแยกชิ้นส่วน และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ฯ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นระบบเกิดการปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้ถอดแยกและสะสมในสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่สอดคล้องกับ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ...

โดยที่ผ่านมา กรมฯ ได้ผลักดันการออกร่าง พ.ร.บ.ฯ จนผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวาระที่ 1 เมื่อปี 2562 แล้ว แต่ยังไม่สามารถผ่านการพิจารณาในวาระที่ 2 และ3 ได้ เนื่องจาก สนช.ยุติลงไป อีกทั้งพบว่า ร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าว ยังมีข้อบกพร่องหากหน่วยงานกลางที่จะมาดูแล หรือ จัดทำระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearinghouse) และกองทุนด้านการเงิน เพื่อใช้บริหารจัดการซากฯ เป็นต้น

ดังนั้น ปัจจุบัน กรมฯอยู่ระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ ให้สมบูรณ์มากขึ้น และตั้งเป้าหมายจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จพร้อมกับการปรับปรุงกฎหมายทุกฉบับของกระทรวงทรัพย์ฯ ภายในเดือน ก.ย.2564 และระหว่างนี้จะจัดทำกฎหมายลูกคู่ขนานกันไป เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ประมาณปลายปี 2564 ต่อไป

เบื้องต้นร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ต้องกำจัดอย่างถูกต้องไว้ 5 ประเภท ได้แก่ 1.คอมพิวเตอร์ 2. เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย 3. เครื่องปรับอากาศ 4. เครื่องรับโทรทัศน์ และ 5. ตู้เย็น โดยแนวทางการจัดการขยะทั้ง 5 ประเภท จะใช้วิธีให้คิดค่ากำจัดซากขยะรวมอยู่ในราคาขายสินค้า ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้ง 5 ประเภทจะกำหนดราคากำจัดซากขยะไว้แตกต่างกันตามความเหมาะสม โดยเงินที่เก็บได้จะต้องตั้งเป็นกองทุนฯ และมีหน่วยงานกลาง หรือ Clearinghouse ขึ้นมาดูแล เพื่อนำเงินดังกล่าวเก็บไว้สำหรับกำจัดซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ

ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคเอกชน ตระหนักถึงปัญหาซากขยะดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อศึกษาวิจัยและจำลองเสมือนจริงในกระบวนการต่างๆของการจัดการซากขยะ ซึ่งผลจากโครงการฯนี้ จะนำไปประกอบใน ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว

160042107931

ยงยุทธ ศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้จัดสรรงบวิจัยและพัฒนาจำนวน 5 ล้านบาท จากงบวิจัยฯทั้งหมด 1,300 ล้านบาทต่อปี สำหรับนำมาดำเนินโครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิสส์(สฟอ.) ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำผลวิจัยที่ได้ไปประกอบในร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ....

โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 เดือน ตั้งแต่ ก.ย.2563 - พ.ย. 2564 จัดทำโครงการนำร่องใน 2พื้นที่ คือ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มชุมชนเมือง และจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มชุมชนชนบท เพื่อให้เห็นรูปแบบการกำจัดซากขยะที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 

"การพัฒนาที่สมดุลตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( SDGs) พร้อมส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) อย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"

สมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ระบุว่า ในอนาคตมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญมากขึ้น เช่น ยุโรป ที่เตรียมออกมาตรการจัดเก็บภาษี หากสินค้าประเภทใดไม่ทำตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งไทยถือว่าโชคดี เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้ปรับตัวหันไปจัดทำอีโคโปรดักท์ กว่า 500 รายการ

“เราเคยเสนอโมเดลบริหารจัดการซากฯ ต้องมี Clearinghouse และก็ต้องมีงบสนับสนุน ซึ่งก็อาจจัดเก็บในตัวสินค้าบางชนิด แต่หากจัดเก็บสินค้าที่ผลิตในประเทศ ก็ต้องจัดเก็บสินค้านำเข้าด้วย เพราะจะเป็ยขยะที่ตกอยู่ในประเทศในอนาคต”

160042144965

ณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) กล่าวว่า แบบจำลองนี้ จะทำให้เห็นว่า ในอนาคตควรมีโรงถอดแยกขยะกี่แห่ง จึงจะกำจัดขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มี 4 แสนตันต่อปีได้หมด และในอนาคตจะต้องมีโรงกำจัดและที่รวบรวมขยะดังกล่าวกระจายไปที่ใดบ้างเป็นต้น

“แนวทางดังกล่าวจะช่วยไม่ให้ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลุดลอดออกไปจากระบบ แต่จะช่วยแก้ปัญหาการทิ้งขยะอย่างไม่ถูกต้องได้และช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น”

ทั้งนี้ โครงการฯ จะเริ่มดำเนินกิจกรรมรับคืนซาก ประมาณการไว้ในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2564 และดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ผ่านระบบฐานข้อมูล Digital WEEE Manifest ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือติดตามซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยในอนาคตคาดหวังว่า ในทุกจัดหวัดของประเทศไทย จะมีระบบบริหารจัดการซากขยะฯได้ถูกวิธีต่อไป