ถอดรหัส ‘มนุษย์แพลตฟอร์ม’ เทรนด์ชีวิตวิถีใหม่ 'คนไทย 4.0'

ถอดรหัส ‘มนุษย์แพลตฟอร์ม’ เทรนด์ชีวิตวิถีใหม่ 'คนไทย 4.0'

เปิดผลวิจัยแผนงาน "คนไทย 4.0" ที่ชี้ชัดว่าคนรุ่นใหม่กำลังก้าวสู่การเป็น "มนุษย์แพลตฟอร์ม" มีความเป็นปัจเจกสูง มองข้ามความสัมพันธ์เชิงกายภาพ เทรนด์ชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย!

“ต่อไปเราจะเป็นมนุษย์แพลตฟอร์ม คือมีชีวิตอยู่บนโลกเสมือนตลอดเวลา เช่น ตื่นเช้ามาเปิดดู YouTube ก่อน เสร็จแล้วก็ใช้ Google map เพื่อวางแผนเส้นทางเดินทางไปทำงาน ระหว่างทำงานก็ใช้ Line ติดต่อกัน จะทานอาหารก็ใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหาร หรือแม้แต่นอนหลับก็นอนบนแพลตฟอร์ม เพราะต้องใส่นาฬิกาจับการเต้นของหัวใจและวัดประสิทธิภาพการนอนหลับ”

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะฉายภาพชีวิตวิถีใหม่ของ ‘คนไทย 4.0’ ที่กำลังก้าวสู่ยุคการเป็นมนุษย์แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อค้นพบจาก ‘แผนงานคนไทย 4.0’ กลุ่มอนาคตศึกษา ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

แผนงานคนไทย 4.0 ทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ให้ทุน (Granting program) เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการวิจัยด้านสังคม มีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยยุค 4.0 ให้มีศักยภาพในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยแบ่งการศึกษาเป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่มอนาคตศึกษา กลุ่มนโยบายสาธารณะ กลุ่มความเชื่อและคุณธรรม กลุ่มการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสังคม กลุ่ม Big dataและดัชนีสังคมไทย และกลุ่มส่องโลกปริทัศน์

“ที่จริงแล้วการเตรียมความพร้อมสำหรับคนไทย 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้หมายถึงคนในอนาคตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งส่งเสริมคนไทยในปัจจุบันให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก ดังนั้นแผนงานคนไทย 4.0 จึงได้ผนวกเอาคนในปัจจุบันเข้ามาด้วย เพราะการเปลี่ยนคนในอนาคตต้องเปลี่ยนคนในปัจจุบัน ซึ่งนั่นหมายถึงการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพเด็กๆ ตั้งแต่วันนี้ โดยมุ่งเน้นเรื่องการปลูกฝังทั้งความรู้ การมีจิตสาธารณะ และทักษะการครองชีวิตในศตวรรษที่ 21”

160043189330

  •  สำรวจความคิด ‘มนุษย์แพลตฟอร์ม’

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วได้หล่อหลอมให้ ‘มนุษย์แพลตฟอร์ม’ เป็นคนที่มีลักษณะความเป็นปัจเจกสูงขึ้น และทำให้มีความสัมพันธ์เชิงกายภาพกับมนุษย์ด้วยกันต่ำลง ที่สำคัญภาวะการรับมือกับปัญหาต่างๆ เช่น น้ำท่วม อัคคีภัย หรือแม้แต่การระบาดของโควิด-19 จะมีความเปราะบางลงอย่างมาก งานวิจัยของแผนงานคนไทย 4.0 จากโครงการอนาคตคนไทย 4.0 นำโดย รศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ชี้ให้เห็นทางออกว่า สิ่งสำคัญคือต้องสร้าง ‘คติรวมหมู่’

“ไม่ใช่เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนแล้วก็อยู่อย่างนั้น แต่มนุษย์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยอาจจะมีการสร้างกิจกรรมภายใน ส่งเสริมให้มีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ทั้ง Co-living Co-working และ Co-traveling เป็นต้น ถ้าหากเรามองถึงอนาคตในเรื่องนี้ สิ่งที่เราต้องเตรียม คือทำอย่างไรให้ สามารถอยู่ด้วยกันได้ (Co-living) เช่น คอนโดมิเนียม ตอนนี้เริ่มมีการใช้รถสาธารณะที่เป็นการใช้ร่วมกันหมด 

ในอนาคตมนุษย์แพลตฟอร์มจะไม่ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่จะใช้รถสาธารณะ ใช้สิ่งที่เรียกว่า Everything as a service คือทุกอย่างเช่าหมด สมมติว่าอยู่คอนโดมิเนียมอยากใช้เตารีดก็จอง จากนั้นก็จะมีคนนำเตารีดก็มาส่งให้ถึงหน้าห้อง ใช้เสร็จก็จ่ายค่าบริการการใช้ไป โดยไม่ต้องซื้อเตารีดเป็นของตัวเอง หรืออยากใช้เครื่องดูดฝุ่นก็จอง แล้วก็จะมีบริการมาส่งให้ได้เช่าใช้ เป็นต้น”

ไม่เพียงแต่วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป รศ. ดร.อภิวัฒน์ ระบุว่า แม้แต่การสร้างความมั่งคั่งทางรายได้ก็ไม่ใช่ความร่ำรวยจากการมีที่ดินดังเช่นคนในยุคที่ผ่านมา แต่จะมาจากความสามารถในการสร้างแพลตฟอร์ม ทว่าปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นของต่างชาติ ดังนั้นคนไทยจึงต้องเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเอง ไปพร้อมๆ กับการเตรียมคนไทย 4.0 เพื่อป้องกันการผูกขาดจากเทคโนโลยีของต่างชาติ

“ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มที่แพร่หลายที่สุดในตอนนี้คือ แพลตฟอร์มไทยชนะ ถ้าเราสามารถทำแพลตฟอร์มไทยชนะให้ออกมาใช้หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว สามารถทำแพลตฟอร์มไทยชนะให้เป็นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือทำอะไรได้เพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้ทุกคนอาจจะถูกบังคับให้ไปอยู่ตรงนั้น ร้านค้าถูกบังคับให้ไปอยู่ตรงนั้นหมดแล้ว ในระยะแรกเราก็เปลี่ยนให้เป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยวก่อนก็ได้ คนไทยเที่ยวได้ ต่างชาติก็เที่ยวได้ และในที่สุดจะเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ของเรา โดยไม่ต้องไปซื้อขายบนแพลตฟอร์มต่างชาติ เวลาต่างชาติเข้ามาก็บังคับให้เข้าแพลตฟอร์มเหล่านี้ เขาต้องจ่ายเงินในแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น”

160043189434

  •  เตรียมความพร้อมคนไทย 4.0

ที่ผ่านมาแผนงานคนไทย 4.0 ไม่เพียงศึกษาสังคมในอนาคตเพื่อเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากคนในโลกเสมือน แต่ยังศึกษาวิจัยและส่งเสริมให้เกิดการสร้างทุนทางสังคมให้แน่นหนาขึ้นควบคู่กันไป ผ่านกลุ่มการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยก้าวสู่การเป็นคนไทย 4.0 ที่รู้เท่าทันโลก คิดเป็น ทำเป็น และมีจิตอาสา

“สังเกตว่าเด็กสมัยนี้เวลาตัดสินใจอะไร เขาจะตัดสินใจโดยใช้เหตุผลของเขา แล้วก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทำบุญนะ แต่การทำบุญสำหรับเขาไม่ได้เป็นทางสำหรับขึ้นสวรรค์อีกต่อไปแล้ว เขาต้องการทำทาน คืออยากลงทุนทางสังคมเพื่อให้สังคมเปลี่ยน เพราะต้องการเปลี่ยนสังคม ซึ่งเขาเองก็ยินดีที่จะเป็นผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงเอง”

ข้อค้นพบของแผนงานคนไทย 4.0 ยังสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่เห็นว่าคุณธรรมด้านวินัยเป็นสิ่งที่ไม่เข้าสมัย แต่ยอมรับว่าต้องมีความรับผิดชอบ

“ตอนนี้มีโครงการเล็กๆ ที่พยายามนำอาจารย์ที่สอนจริยธรรมให้มาเจอกัน มาเล่าประสบการณ์สู่กันฟัง ที่น่าสนใจคือ ผศ. ดร.ชนินทร เพ็ญสูตร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า เวลาสอนจริยธรรม ไม่ใช่สอนเรื่องคุณธรรม 5 ประการ แต่สอนให้มองว่า ต้องพยายามทำตัวเองให้เป็นปัญหากับสังคมให้น้อยๆ หน่อย โดยเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เช่น ไปหามาว่าในมหาวิทยาลัยเรื่องขยะเป็นอย่างไร เด็กนักเรียนก็จะไปหามา ไปถ่ายรูปพฤติกรรมที่ไม่ดีในมหาวิทยาลัยว่าคืออะไร เช่น มีคนชอบไปขีดเขียนหนังสือในห้องสมุด หรือฉีกหนังสือเป็นหน้าๆ

แล้วนักเรียนก็จัดกิจกรรมตัวเองขึ้นมาว่า ‘นักลบผู้ยิ่งใหญ่’ โดยเอายางลบไปอาสาลบรอยขีดเขียนในหนังสือของห้องสมุด แล้วก็เก็บขี้ยางลบมาให้อาจารย์ดูว่า เขาไปช่วยกันลบรอยขีดเขียนมา ซึ่งเป็นงานจิตสาธารณะแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นจิตสาธารณะแบบที่เข้าไปในตัวคน ไม่ใช่ไปรับบริจาค ไปขุดดิน หรือไปฟันหญ้าอย่างที่เคยเจอ ซึ่งเป็นการสร้างวิธีคิดใหม่ โดยที่เรายังไม่ต้องไปเปลี่ยนคนอื่น แต่เปลี่ยนที่ตัวเองก่อน

ส่วนอาจารย์ที่สอนเรื่องคุณธรรมแบบเดิมๆ เมื่อเขามาได้รับการจุดประกายความคิดแล้วเขาก็กลับไปเปลี่ยนวิธีการสอนหมดเลย ซึ่งหัวข้องานวิจัยอาจจะเล็ก แต่ว่าแต่ละส่วนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือกระทำการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง”

160043189695 ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ ไปกับการปฏิรูปประเทศไทย 4.0 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคนไทย 4.0 ภาครัฐยังเดินหน้าปฏิรูประบบวิจัยครั้งใหญ่ โดยที่ผ่านมาได้กำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณวิจัยผ่าน ‘กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม’ ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำวิจัยมากขึ้น เช่น การให้ทุนวิจัยแบบเป็นก้อนระยะยาวที่เรียกว่า ‘Block grant’ และ ‘Multi years’

เรื่องนี้ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ให้ความเห็นว่า การให้ทุนวิจัยระยะยาวสำคัญมาก เป็นประโยชน์ต่อแผนงานคนไทย 4.0 และควรนำงานวิจัยเหล่านี้ไปใช้เพื่อปรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้สอดคล้องกับสังคม โดยเอาสิ่งที่วิจัยแล้วไปนำเสนอสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแผนงานคนไทย 4.0 เสนอเป้าหมายตั้งแต่ต้นว่าเป็นการสร้างกระแสสังคม ไม่ใช่สร้างกระแสเงิน โดยตัวชี้วัดคือ คนที่เข้ามาดูเว็บไซต์ www.khonthai4-0.net เป้าหมายปีแรก 300,000 คน แต่ได้มากถึงเกือบ 400,000 คน ถือว่าประสบผลสำเร็จในเชิงการรับรู้ของสังคม

“งานวิจัยแต่ละกลุ่มในแผนงานคนไทย 4.0 นั้น เราพยายามก่อให้เกิดนวัตกรรมทางความคิดให้มากขึ้น ที่ผ่านมางานวิจัยเชิงสังคมในประเทศไทยชอบดูตัวชี้วัดว่างานวิจัยนั้นสร้างรายได้เท่าไร ซึ่งอันนั้นมันไม่ใช่งานวิจัย เพราะงานวิจัยที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคมนั้น ต้องอาศัยระยะเวลานาน หน่วยงานผู้ให้ทุนจะต้องใจเย็น และสนับสนุนอย่างเข้าใจนักวิจัยด้วยเช่นกัน”