"Transportation" Sector (18 ก.ย.63)

"Transportation" Sector (18 ก.ย.63)

บินฝ่าพายุ

Event

แนวโน้มกลุ่มสายการบิน

lmpact

สายการบินส่วนใหญ่ดิ้นรนให้อยู่รอดจากวิกฤติ

ใน 1H63 สายการบินทุกแห่งขาดทุนอย่างหนัก โดยขาดทุนอยู่ระหว่าง 2 พันล้านบาท ถึง 2.8 หมื่นล้านบาท เพราะถูกกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ใน 2Q63 เราคาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมจะยังคงอ่อนแอต่อเนื่องใน 3Q63 ทั้งนี้ เราได้ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลงเหลือ 6.7
ล้านคน (-83.2% YoY) เนื่องจากสนามบินยังคงปิดรับสายการบินระหว่างประเทศอยู่ เราไม่คาดว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่การเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศยังเป็นประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วง เรามองว่าแนวโน้มยังคงอ่อนแอ เนื่องจาก i) seat capacity ลดลง (จำกัดอัตราการเติบโตของรายได้) ii) กำลังซื้อของผู้โดยสารลดลง (จากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง) และ iii) ได้อานิสงส์น้อยลงจากราคาน้ำมันเครื่องบินที่ลดลง YoY ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสายการบินทั่วโลก เราพบว่า COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสายการบินต่าง ๆ ดังนี้ i) ต้องยื่นขอให้ศาลคุ้มครองกรณีล้มละลาย ii) ปลดพนักงาน 15-20% iii) ลดขนาดฝูงบินลง 15% iv) การระดมทุน และ v) การคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งหมายความว่าผลกระทบด้านลบจะเกิดขึ้นนานกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้

เที่ยวบินในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นจะไม่ได้ช่วยหนุนผลการดำเนินงานโดยรวมใน 2H63

แม้ว่าแนวโน้ม margin โดยรวมอาจจะดีขึ้น เนื่องจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง และเปิดบริการเที่ยวบินในประเทศเพิ่มขึ้นใน 2H63 แต่เราไม่คิดว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เราคาดว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศยังไม่สามารถขับเคลื่อนกำไรได้ในขณะที่ยังไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าหรือออกจากประเทศไทย ซึ่งสะท้อนว่าผลประกอบการของทั้งผู้ประกอบการสนามบินและสายการบินจะยังคงอ่อนแอ (เหมือนใน 2Q63) โดยในส่วนของ AAV นั้น load factor ของเที่ยวบินในประเทศดีขึ้น QoQ มาอยู่ที่ประมาณ 70% จากที่เฉลี่ยแค่ 52% ใน 2Q63 ในขณะที่อัตราการใช้งานเครื่องบิน (utilization) อยู่ที่เกือบ 50% ของเครื่องบินทั้งหมด 62 ลำ เพราะไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเลยตั้งแต่เดือนเมษายน 2563

"วีซ่าท่องเที่ยวพิเศษ" อาจจะช่วยสร้างสภาวะด้านบวกให้กับแนวโน้มการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 15 กันยายน คณะรัฐมนตรีอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยอมกักตัว 14 วัน และอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 90 วัน (ขอขยายเวลาอยู่ในประเทศไทยได้จนถึง 270 วัน) สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยมีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเผยว่า รัฐบาลจะออกวีซ่าท่องเที่ยวพิเศษให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ยาวในประเทศไทย ซึ่งเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือการกักตัว 14 วัน ทั้งนี้ รัฐบาลประเมินว่ามาตรการนี้จะดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยสัปดาห์ละ 100-300 คน เราคิดว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นสัญญาณว่า การท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวได้ แม้ว่าในช่วงแรกจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ๆ (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 คาดว่าจะ <3,600 คน) เมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ระบาดซึ่งเคยสูงถึงเกือบ 3 ล้านคนต่อเดือน เรามองว่าหากมาตรการนี้ประสบความสำเร็จในขั้นตอนต่อไปรัฐบาลจะขยายโครงการให้ใหญ่ขึ้นอีกในปีหน้า

AAV และ BA มีโอกาสรอดจากวิกฤติรอบนี้

เมื่อพิจารณาจากฐานเงินทุนเมื่อสิ้นงวด 1H64 เราพบว่ามีแค่ AAV และ BA เท่านั้นที่ยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกอยู่ที่ 2.14 และ 2.30 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ หากใช้สมมติฐานว่าแต่ละบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิปีละ 4 พันล้านบาท ก็เท่ากับว่าทั้งสองบริษัทมีฐานเงินทุนที่สามารถรองรับผลขาดทุนต่อไปได้
ประมาณ 5-6 ปีก่อนที่ส่วนของผู้ถือหุ้นจะติดลบ อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าวิกฤติรอบนี้จะใช้เวลาประมาณสามปีก่อนที่จะกลับไปอยู่ระดับปกติเท่ากับเมื่อปี 2562 ทั้งนี้ ราคาหุ้น AAV ในปัจจุบันคิดเป็น EV/EBITDA ปี FY64F ที่ 8.4x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภาวะปกติที่ประมาณ 10-11x เราคาดว่าศักยภาพการฟื้นตัวในอีกสามปีข้างหน้าจะเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในระยะยาว ซึ่งหากอิงตามประมาณการของเรา ผลการดำเนินงานของ AAV น่าจะกลับมาเป็นปกติได้ในปี 2565

Valuation & Action

เรายังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มขนส่งทางอากาศที่ Neutral

Risks

การระบาดของ COVID-19 ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองไทยรอบใหม่ เกิดเหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่