ย้อนรอย 10 ปี คดีดัง 'บอส อยู่วิทยา' สั่งฟ้องอดีต ผบ.ตร.-อดีตรอง อสส.

ย้อนรอย 10 ปี คดีดัง 'บอส อยู่วิทยา' สั่งฟ้องอดีต ผบ.ตร.-อดีตรอง อสส.

เปิดปูมหลังย้อนรอย 10 ปี คดีดัง 'บอส อยูวิทยา' ทายาทเศรษฐีแสนล้าน เมื่ออัยการสูงสุด สั่งฟ้องบิ๊กเนม อดีต ผบ.ตร.-อดีตรอง อสส.-อดีต สว.-อาจารย์มหาวิทยาลัย

กลายเป็นข่าวใหญ่ฮอตมาแรงมาก คดีดัง "บอส อยู่วิทยา" ทายาทมหาเศรษฐีแสนล้าน เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แจ้งว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือถึงอัยการสูงสุด แจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขอให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง 

  • พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 
  • พลตำรวจตรี ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5, 
  • พันตำรวจเอก วิรดล ทับทิมดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7, 
  • นายเนตร นาคสุข อดีตรอง อสส. ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10, 
  • นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9, 
  • นายธนิต บัวเขียว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12, 
  • นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร (อดีต สว.ก๊อง ปัจจุบันเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13, 
  • รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 นั้น

อัยการสูงสุดได้พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญา ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

ย้อนรอยลำดับคดีบอส อยู่วิทยา

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 66 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 ได้ชี้มูลความผิดกรณีผู้ถูกกล่าวหาในคดีกลับคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ในข้อหาขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ นายดาบตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555

เนื่องจากมีขบวนการช่วยเหลือในการเปลี่ยนพยานหลักฐานด้านความเร็วของรถ ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 15 ราย ประกอบด้วย อดีตข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ เจ้าหน้าที่ข้าราชการตำรวจที่ยังรับราชการอยู่ พนักงานสอบสวนคดี พนักงานอัยการ และนักการเมือง 

โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญา ได้แก่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) , นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ,นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส , นายพิชัย (ชูชัย) เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง ปัจจุบันดำรงตำแหน่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ , นายสายประสิทธิ เกิดนิยม และพนักงานสอบสวนบางส่วน 

ส่วนนายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบันเป็น รมว.ศึกษาธิการ ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นควรส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือถอดถอน ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่ากรณีดังกล่าว มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดลงรายมือชื่อในสำนวน และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจะได้แถลงข่าว พร้อมให้รายละเอียดพฤติการณ์ทั้งหมดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ทั้งนี้การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา มีวาระพิจารณาลงมติผลการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม หรือ “อัยการ ช.ช้าง” อดีตอัยการอาวุโส ที่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า อยู่ในห้องเปลี่ยนอัตราความเร็วรถ คดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” กรณีถูกกล่าวหาว่าขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 

ทั้งนี้ ก.อ.มีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับอัยการสูงสุด (อสส.) ลงโทษให้ออกจากราชการแก่นายชัยณรงค์ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ให้คำแนะนำในการทำสำนวน ในการกำหนดความเร็วรถไม่เกิน 80 กม./ชม.

 ก่อนหน้านี้นายชัยณรงค์ได้ลาออกจากราชการไปแล้ว ต่อมา ก.อ. มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยผลการสอบสวนวินัยร้ายแรงเห็นว่า การกระทำของนายชัยณรงค์เป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ในกรณีที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเวลาความเร็วและไม่ทุ่มเทให้ราชการ เนื่องจากขณะที่เข้าไปมีส่วนในการแก้ไขเวลาความเร็วอยู่ในเวลาทำงานราชการคณะกรรมการเห็นว่าการกระทำเป็นความผิดวินัยร้ายแรงเสนอให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ

ต่อมา สำนักงาน ก.อ. พิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงเห็นควรงดความดีความชอบ 3 ปี พร้อมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา

น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายชัยณรงค์ เป็นความผิดวินัยร้ายแรง แต่เนื่องจากนายชัยณรงค์ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย หรือถูกตั้งกรรมการสอบวินัยและอุทิศตนต่อราชการมาตลอดยกเว้นกรณีนี้ จึงเห็นควรลดโทษให้ออกจากราชการ ต่อมาที่ประชุม ก.อ.จึงเห็นด้วยกับ อสส.เห็นชอบลงโทษเหลือแค่ให้ออกจากราชการเท่านั้น

บอส อยู่วิทยา หนีสุดขอบฟ้า ตำรวจตามไม่ได้

เมื่อ 26 พ.ย. 2564 จากกรณีที่ คณะกรรมาธิการ การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในคดีนาย วรยุทธ อยู่วิทยา  หรือ "บอส" ทายาทมหาเศรษฐีแสนล้าน ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยมีผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมชี้แจง นั้น

ล่าสุดทางด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่าเรื่องนั้นเป็นปัญหาที่ต้องไปแก้ไข ทั้งนี้เรื่องบอส อยู่วิทยา เมื่อวานนี้ทางทีมงานตำรวจได้ไปชี้แจงกรรมาธิการไปแล้ว 

โดยเมื่อเช้าได้พูดคุยกับทางจเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งช่วงบ่ายของวันนี้อาจจะให้มีการแถลงข่าวของตำรวจในส่วนที่ยังมีข้อสงสัยอยู่ แต่ก็คุยกันไว้ว่าแถลงเท่าที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย และก็ไม่มีผลกระทบต่อการสอบสวน จะตอบในทุกประเด็นที่สงสัย ซึ่งจะให้รวบรวมและตอบเสียทีเดียวเลย

 

คดีบอส อยู่วิทยา ในมืออัยการ

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 สำนักงานอัยการสูงสุด เผยแพร่เอกสารแถลงความคืบหน้าการพิจารณาสั่งคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทมหาเศรษฐีแสนล้าน ดังนี้

ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้แถลงข่าว เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เกี่ยวกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตามคำสั่ง ที่ พิเศษ/2563 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ซึ่งมีนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน กรณีนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหา ในข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย

และต่อมา พลตำรวจโทเพิ่มพูน ชิดชอบ รอง ผบ.ตร. ไม่แย้งคำสั่งดังกล่าว เป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาด ตาม ป.วิอาญา มาตรา 145/1 ซึ่งคณะทำงานที่มีนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงานได้เสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดว่า แม้คดีดังกล่าวจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว แต่ปรากฏข้อเท็จจริงทางคดีว่าผู้ต้องหาได้เสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 (โคคาอีน) ด้วย แต่ยังไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ กับผู้ต้องหาเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดดังกล่าว

อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นพยานหลักฐานใหม่และเป็นพยานสำคัญ ที่จะพิสูจน์ให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ ซึ่งอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะทำงานดังกล่าว พร้อมกับได้มีคำสั่งที่ 1400/2563 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว ตาม ป.วิอาญามาตรา 147 โดยมี นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายอุทัย สังขจร เลขานุการรองอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 นายนรา เขมอุดลวิทย์ เลขานุการผู้ตรวจการอัยการ เป็นคณะทำงาน

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 คณะทำงาน ได้ร่วมกันพิจารณาสำนวน และบันทึกความเห็นของคณะทำงานตามคำสั่งที่ พิเศษ/2563 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ทำการสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น และต่อมา ในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และวันที่ 9 กันยายน 2563 พนักงานสอบสวนได้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมจนครบถ้วนแล้วครั้น

ต่อมาในวันนี้ (วันที่ 18 กันยายน 2563) คณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาสำนวนพร้อมผลสอบสวนเพิ่มเติมทั้งหมดแล้วมีความเห็นโดยเอกฉันท์ ดังนี้

1. คดีปรากฏพยานหลักฐานใหม่และเป็นพยานสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้จึงสั่งฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหา ในข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อาญา มาตรา 291 โดยแจ้งให้พนักงานสอบสวนนำตัวนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา มาเพื่อฟ้องต่อไป

2. คดีมีพยานหลักฐานทั้งปรากฏในสำนวนอยู่เดิมและได้จากการสอบสวนเพิ่มเติม แน่นแฟ้น มั่นคง ว่าขณะเกิดเหตุ ผู้ต้องหา เสพโคเคนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 จึงเห็นควรสั่งฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหา ในข้อหา เสพยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2 (โคเคนหรือโคคาอีน) โดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58 , 91

ทั้งนี้ นับย้อนไปเหตุเกิดปี 2555 จนถึงตอนนี้กว่า 12 ปีแล้ว กระบวนการสอบสวนคดีดัง "บอส อยู่วิทยา" กำลังขึ้นสู่ศาล