'เปิดศึกรอบด้าน' เพิ่มความเสี่ยงการทูตจีน

'เปิดศึกรอบด้าน' เพิ่มความเสี่ยงการทูตจีน

นักวิชาการจีนเตือนว่าการเปิดศึกรอบด้านของจีนขณะนี้เพิ่มความเสี่ยงด้านการทูตและการสร้างศัตรูในเวลาเดียวกัน เป็นหายนะทางการทูต ทั้งยังเป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ทางการทูตที่เลวร้ายที่สุด

ช่วงนี้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนและสหรัฐ 2ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกไม่ราบรื่นนัก ทั้งในมิติของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่จีน ไม่ได้มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ย่ำแย่กับสหรัฐแค่ประเทศเดียว ความสัมพันธ์ของจีนกับบรรดาสมาชิกในสหภาพยุโรป (อียู)โดยเฉพาะประเทศที่เป็นพี่เบิ้มของกลุ่มอย่างเยอรมนี และความสัมพันธ์ของจีนกับอินเดีย รวมทั้งจีนกับออสเตรเลียก็อยู่ในเกณฑ์ไม่น่าไว้วางใจ

บรรดานักวิชาการชาวจีน ที่ติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศ พากันเตือนว่า การสร้างศัตรูรอบด้านของรัฐบาลปักกิ่งในช่วงนี้  เพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายด้านการทูต พร้อมทั้งนำไปเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ที่สร้างศัตรูรอบด้านจนทำให้ประเทศตกอยู่ในอันตรายก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่2ตามมา ซึ่งรัฐบาลจีนควรเรียนรู้บทเรียนที่ผิดพลาดจากญี่ปุ่นที่ส่งผลให้เพิร์ล ฮาร์เบอร์ถูกโจมตีจนย่อยยับเมื่อปี 2484  ที่สำคัญประเด็นนี้ กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในแวดวงนักวิชาการของจีน

การดำเนินแนวทางการทูตของจีนในช่วงนี้ถือว่าล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เกี่ยวกับทะเลจีนใต้  ปมขัดแย้งในฮ่องกงเรื่องกฏหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกง และกรณีพิพาทกับไต้หวัน ขณะที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับออสเตรเลียก็ย่ำแย่ลง การปะทะกันบริเวณพรมแดนกับอินเดียที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตครั้งแรกในรอบ 45ปี ก็ฉุดให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัฐบาลภารตะดำดิ่งมากขึ้น 

ส่วนความสัมพันธ์กับแคนาดาก็ตึงเครียดขึ้นจากประเด็นหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ล่าสุดคือสาธารณรัฐเช็ค ที่“หวัง อี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ประกาศว่า จีนจะทำให้สาธารณรัฐเช็กต้องรับผิดชอบอย่างสาสม หลังจากมีพฤติกรรมที่ไร้วิสัยทัศน์และฉวยโอกาสทางการเมือง 

หวัง อี้ หมายถึงเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ส.ค. ที่ “ไมลอส วิสเตอร์ซิล” ประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็กพร้อมคณะ 90 คนเดินทางถึงกรุงไทเป ตามแผนเยือน 5 วัน พร้อมทั้งกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติไต้หวัน และเข้าเยี่ยมคารวะ “ไช่ อิง-เหวิน” ผู้นำหญิงแห่งไต้หวันด้วย ซึ่งประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก เปิดเผยก่อนออกเดินทางว่า สาธารณรัฐเช็กจะไม่โอนอ่อนผ่อนตามแรงกดดันจากรัฐบาลปักกิ่ง

แม้แต่เยอรมนี ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังเริ่มเปลี่ยนท่าที หลังจากพยายามดำเนินตามยุทธศาสตร์เอเชียกับประเทศรอบๆจีนมานานหลายปี เยอรมนีก็แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งกับประเทศหรือดินแดนที่มีประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้เท่านั้น ซึ่งรวมถึง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้เพื่อสนับสนุนหลักนิติธรรม ซึ่งการปรับเปลี่ยนจุดยืนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกถึงอันตรายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่ายุโรปพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากเกินไป ขณะที่จีนเป็นประเทศที่มีจุดด่างพร้อยในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“การสร้างศัตรูรอบด้านในเวลาเดียวกัน ถือเป็นหายนะทางการทูต และถือเป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ทางการทูตที่เลวร้ายที่สุด”หยวน นันเฉิง อดีตนักการทูต เขียนบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ 

ในส่วนของการดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐที่ทั่วโลกจับตามองท่าทีของจีนอย่างใกล้ชิด ในฐานะเป็นพี่เบิ้มในซีกโลกตะวันออกนั้น ความสัมพันธ์อันตึงเครียดของจีนและสหรัฐ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่"เทอร์รี แบรนสตัด"เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำจีน ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยจะมีผลต้นเดือนต.ค. หลังรับหน้าที่นี้เป็นเวลา 3 ปีครึ่ง

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวชื่นชมเเบรนสตัด ผ่านทวิตเตอร์ว่า “ทูตแบรนสตัด ช่วยสหรัฐปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนจนทำให้เกิดการทำงานที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ สร้างสมดุลซึ่งกันและกัน และเป็นธรรม

ขณะที่นักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า การลงจากตำแหน่งของแบรนสตัด ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐไอโอวา สังกัดพรรครีพับลิกัน ทำให้ความหวังที่ว่าสหรัฐและจีนจะสมานความแตกต่างกันริบหรี่ลงเรื่อยๆ

“ออร์วิลล์ สเกลล์” ผู้อำนวยการศูนย์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนจากเอเชีย โซไซเอตี้  มีฐานดำเนินงานอยู่ในนิวยอร์ก ให้ความเห็นว่าแบรนสตัด เข้าทำงานในหน้าที่นี้ด้วยความหวังว่าจะสามารถสร้างความคืบหน้าในประเด็นที่ต้องบรรเทาปัญหาได้ แต่กลายเป็นว่าทำไม่ได้ตามที่คาดเอาไว้

อดีตผู้ว่าการรัฐไอโอวาคนนี้ รู้จักกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนมายาวนาน เนื่องจากรัฐที่เขาดูแลและมณฑลหูเป่ยห์ ที่สี เคยทำงานอยู่ ได้รับการจัดให้เป็นเมืองพี่เมืองน้องของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ซึ่งภายใต้โครงการนี้ ทำให้แบรนสตัดและสี ได้พบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ 35 ปีก่อน

เมื่อเเบรนสตัด ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อสามปีก่อนให้เป็นเอกอัตรราชทูตสหรัฐประจำจีน จึงถูกมองว่าแบรนสตัดน่าจะช่วยบรรเทารอยร้าว ที่เกิดจากการโจมตีจีนของทรัมป์ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อสี่ปีก่อนได้ แต่ความสัมพันธ์ของสหรัฐและจีนแย่ลง ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 

ส่วนความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของทูตแบรนสตัดที่มีกับประธานาธิบดีสี ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก  ส่วนบทความของหยวน ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากบรรดานักวิชาการชาวจีน แต่สำหรับกลุ่มรักชาติในโลกโซเชียลแล้วกลับเห็นตรงกันข้าม

โดยกลุ่มนี้ประณามบทความชิ้นนี้ พร้อมทั้งมองว่าอดีตนักการทูตอย่างหยวนคือผู้ทรยศประเทศ และมีคนที่มีแนวคิดชาตินิยมคนหนึ่ง โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยการเปรียบเทียบจีนและความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศต่างๆทั่วโลกว่า เหมือนเด็กในโรงเรียนที่ถูกรังแกจากเพื่อนร่วมชั้น 5 คนที่หมายถึง สหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดีย แคนาดา และสาธารณรัฐเช็ค