รัฐฉีดเงินปลุก ‘กำลังซื้อ’ กูรูชี้ ‘ค้าปลีก’ รับอานิสงส์ช่วงสั้น

รัฐฉีดเงินปลุก ‘กำลังซื้อ’  กูรูชี้ ‘ค้าปลีก’ รับอานิสงส์ช่วงสั้น

ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) เห็นชอบอัดฉีดเม็ดเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท

เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1) เพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน จำนวน 500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวม 2.1 หมื่นล้านบาท และ 2) โครงการคนละครึ่ง ให้สิทธิแก่ประชาชนที่อายุเกิน 18 ปีขึ้นไป จำนวน 10 ล้านคน โดยจัดสรรวงเงินให้ 3,000 บาท เบิกจ่ายได้วันละ 100 บาท ใช้งบประมาณรวม 3 หมื่นล้านบาท โดยสินค้าที่สามารถซื้อได้คือ อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป (ไม่รวมลอตเตอรี่, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยาสูบ และการบริการ)

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อตลาดหุ้นมากนัก แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างแต่เป็นการเพิ่มกำลังซื้อในช่วงสั้นเท่านั้น ซึ่งผลบวกจะตกอยู่ในกลุ่มฐานรากเป็นหลัก และในแง่สภาพคล่องต่อการลงทุนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากมาตรการนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ อานิสงส์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับหุ้นบางกลุ่มซึ่งมีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มร้านค้าดั้งเดิม (Traditional trade) หรือผู้ผลิตสินค้าที่ส่งขายในร้านค้าดั้งเดิมอาจจะต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งว่าผู้ใช้สิทธิตามมาตรการดังกล่าว เลือกที่จะใช้จ่ายไปในส่วนใดบ้าง ซึ่งยังประเมินได้ค่อนข้างยากในเวลานี้ แต่เชื่อว่าจะไม่ได้มีผลกระทบมากนัก

สำหรับแนวโน้มกลุ่มค้าปลีก มองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่ผลประกอบการในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะออกมาน่าผิดหวังจากที่ตลาดคาดหวังไว้ เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นมา (pent up demand) ในช่วงของการกลับมาเปิดเมืองอีกครั้งได้หมดไปแล้ว

“หลังจากเปิดเมืองในช่วงแรก พบว่ามี pent up demand(อุปสงค์คงค้าง) เข้ามาในกลุ่มค้าปลีกพอสมควร แต่ในปัจจุบันเริ่มลดลง ทำให้นักลงทุนอาจจะต้องระมัดระวังกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าคงทน เนื่องจากจุดสูงสุดของดีมานด์ในกลุ่มนี้น่าจะผ่านไปแล้วสำหรับปีนี้”

นอกจากนี้ หากพิจารณาภาคแรงงานที่ยังมีปัญหาและมีแนวโน้มจะใช้จ่ายลดลง ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมานี้ยังไม่น่าจะเพียงพอ รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก ทำให้ผู้บริโภคน่าจะลดการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น

โดยภาพรวม เรายังให้น้ำหนักกลุ่มค้าปลีกต่ำกว่าตลาด (Underweight) และที่ผ่านจะเห็นว่าการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจจากหน่วยงานต่างๆ จะเป็นการปรับลดในส่วนของกำลังซื้อในประเทศมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นผลจาก 2 ปัจจัยคือ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกพักชำระไว้ หากหมดมาตรการและไม่มีการต่อมาตรการออกไป จะทำให้อุปสงค์ถูกดึงออกไป ขณะเดียวกันรายได้ของผู้บริโภคยังมีความไม่แน่นอนสูงในอนาคต

ด้าน นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมประมาณ 0.19% ของจีดีพี จากเม็ดเงินที่จะกระจายเข้าถึงร้านค้าทั่วไปช่วยประคองเศรษฐกิจในระยะถัดไป แต่ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอาจจะไม่มากนัก เนื่องจากมาตรการที่ออกมาจำกัดสิทธิ์ให้ใช้ร้านค้าปลีกรายย่อยเป็นหลัก โดยต้องไม่ใช่นิติบุคคลและไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์

ทั้งนี้ ประเมินว่า บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นร้านโชห่วยและผู้ประกอบการรายย่อย ตามด้วย บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ผ่านอานิสงส์ต่อ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ส่วน บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) ได้กำลังซื้อส่วนเพิ่มทางอ้อมของผู้บริโภคและยอดขาย MAKRO ที่จะดีขึ้น ในขณะที่กลุ่มขายสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) บมจ.ดูโฮม (DOHOME) บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) และบมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ (ILM) คาดจะไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มเครื่องดื่ม ซึ่งผลิตสินค้าที่ขายทางอ้อมผ่านช่องทางร้านค้าดั้งเดิม (Traditional trade) ได้แก่ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICH) บมจ.เซ็ปเป้ (SAPPE) บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) บมจ.โอสถสภา (OSP) จะได้รับผลบวกเช่นกัน