กรมชลฯ เซ็นเอ็มโอยูสำรองน้ำ ป้องกันพื้นที่อีอีซีขาดน้ำ

กรมชลฯ เซ็นเอ็มโอยูสำรองน้ำ ป้องกันพื้นที่อีอีซีขาดน้ำ

กรมชลฯลงนามบันทึกข้อตกลงสำรองน้ำเฉพาะกิจฤดูฝนปี 2563 หวังสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี เริ่มทดลองเดินเครื่องแล้วเมื่อต้นเดือน ก.ย.

นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า คณะทำงานฯได้ลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมชลประทาน และคณะทำงานลุ่มน้ำแม่น้ำวังโตนด ณ สถานีสูบน้ำบ้างวังประดู่ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เพื่อดำเนินการสูบผันน้ำส่วนเกินที่ไหลทิ้งทะเลในคลองวังโตนด จ.จันทบุรี มาเก็บในอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง สำรองน้ำเฉพาะกิจ ฤดูฝน ปี 2563  เพื่อให้บริหารการจัดสรรน้ำเพียงพอเพื่อรองรับฤดูแล้งในปี 2563/64
           
โดยได้เริ่มทดลองเดินเครื่องตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ก. ย. 2563 มีเงื่อนไข คือต้องไม่ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำปะแกต ลงมาอย่างเด็ดขาด ยกเว้นกรณีพร่องน้ำรับฝนที่คาดการณ์จะตกทำให้น้ำล้นอ่างฯเกินควบคุมน้ำเหนือฝายทดน้ำในคลองวังโตนด ต้องเต็มทุกฝาย โดยเฉพาะที่ฝายวังใหม่ระดับน้ำต้องไม่น้อยกว่า +16.00 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง หากมีระดับต่ำกว่าต้องหยุดการสูบน้ำทันทีด้วยระบบสูบผันน้ำแม่น้ำวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นระบบสูบผันน้ำขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยเครื่องสูบน้ำขนาด 0.625 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที จำนวน 9 เครื่อง (สูบ 8 สำรอง 1) โดยมีท่อขนาด 1.80 เมตร ความยาว 45.7 กิโลเมตร สูบผันน้ำจากสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เติมลงสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาได้รับน้ำใจจากชาวลุ่มน้ำวังโตนดและชาวจ.จันทบุรี แบ่งปันน้ำไปให้ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ในช่วงวันที่ 1-25 มี.ค. 2563 ได้ปริมาณน้ำ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือวิกฤติฤดูแล้งที่ผ่านมาให้ผ่านพ้นไปได้
          

สำหรับการสูบผันน้ำส่วนเกินดังกล่าว เป็นการบำรุงรักษาระบบสูบผันน้ำขนาดใหญ่ให้มีความมั่นคง และป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดอันเกิดจากน้ำส่วนเกินที่จะไหลลงสู่แม่น้ำวังโตนดและสูญเสียลงสู่ทะเล เพื่อให้เกิดประโยชน์ของทรัพยากรน้ำอันสูงสุด จึงได้ร่วมกันให้ดำเนินการสูบผันน้ำส่วนเกินที่ไหลลงสู่แม่น้ำวังโตนด มาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อสร้างความมั่นคงสำรองน้ำในช่วงฤดูฝนเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในปีต่อไป