“พลังงาน” ดัน 4 แผนชง ครม. ลุยซื้อไฟพลังงานทดแทน

“พลังงาน” ดัน 4 แผนชง ครม. ลุยซื้อไฟพลังงานทดแทน

“พลังงาน” ดัน 4 ร่างแผนฯ พีดีพี 2018 ฉบับปรุง เข้าครม. อีกรอบ หวังดันลงทุนโรงไฟฟ้าหลัก รับซื้อไฟพลังานหมุนเวียน ไม่ล้มโรงไฟฟ้าชุมชน ด้าน “จีพีเอสซี-บี.กริมฯ” จ่อรุกนำเข้าแอลเอ็นจี แข่งลดต้นทุนผลิตไฟ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)เปิดเผยในการสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2020 Special!(Webinar) เรื่อง “อุตสาหกรรมไทยกับการปรับตัวรับ New Normal ด้านพลังงาน” จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่ได้ปรับพยากรณ์ GDP ระยะยาว 20 ปี ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8% ต่อปี จากเดิม 4% จะนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) ฉบับใหม่ ของกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดเตรียมกำลังผลิตไฟฟ้าให้สอดรับกับดีมานด์ไฟฟ้าในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบโควิด-19 

ขณะที่ ทิศทางพลังงานของประเทศไทย ปัจจุบันยังดำเนินการตามแผน PDP 2018 เนื่องจากทั้ง 4 ร่างแผนพลังงาน คือ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018 Rev.1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2018) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2018) ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)

แต่ล่าสุด กระทรวงพลังงาน ได้ส่งทั้ง 4 ร่างแผนฯ ไปยังครม.อีกครั้ง ซึ่งหากผ่านการอนุมัติทั้ง 4 แผนแล้ว ก็เชื่อมั่นว่า โครงการลงทุนต่างๆจะเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ โดยส่วนใหญ่เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เช่น ก่อสร้างโรงไฟฟ้า กำลังผลิตรวม 5,901 เมกะวัตต์ ในปี 2580 และระบบส่งประมาณ 30 โครงการในปี 2570 รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(ใหม่) 2,973 เมกะวัตต์ ทั้ง โรงไฟฟ้าชุมชน,ขยะชุมชน,ชีวมวลประชารัฐ พลังงานลม และโซลาร์ภาคประชาชน ก็จะเกิดการลงทุนขึ้น

“กระทรวงพลังงาน จะจับตาเศรษฐกิจหลังโควิดเป็นอย่างไร และปรับพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดหลังโควิด จัดทำสมมติฐานให้ครอบคลุมหลายด้าน เพื่อวางแผนรับมือ เช่น สำรองไฟฟ้าสูงจะปรับลดอย่างไร โรงไฟฟ้าใหม่เลื่อนหรือไม่ และชะลอแผนซื้อขายไฟฟ้าอย่างไร ก็ต้องรอดูความชัดเจน”

นายศิริเมธ ลี้ภาภร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและบริหารบริษัทในเครือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC ระบุว่า ธุรกิจไฟฟ้าไม่ได้กังวลเรื่องของดีมานด์และซัพพลายไฟฟ้าหลังโควิดมากนัก แต่มีความเป็นห่วงเสถียรภาพของไฟฟ้า เนื่องจากทิศทางของโลกกำลังมุ่งไปสู่การลงทุนพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสัดส่วนถึง 50% ของการใช้พลังงานของโลก ในปี 2578 จากปีนี้ อยู่ที่ 27%

โดยขณะนี้ บริษัท อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับ ปตท.ถึงความเป็นไปได้ในการขอรับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(LNG Shipper) แต่ก็ต้องประเมินทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ด้วย

นางปรียนาถ สุนทรวาะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า บริษัท คาดหวังที่จะนำเข้า LNG หลังจากได้รับใบอนุญาต Shipper แล้ว ซึ่งจากข้อมูลพบว่า แม้ว่าราคา LNG ก่อนหน้านี้ จะอยู่ที่ 2-3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และปัจจุบันเริ่มเข้าฤดูหนาว ทำให้ราคาเพิ่มเป็น 4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งยังไม่รวมกับต้นทุนบริหารจัดการ เช่น ค่าขนส่ง ค่าผ่านท่อฯ โดยจากที่เคยหารือกับบริษัท PTTLNG คาดว่า ค่าบริการขนส่งทางท่อฯ จะอยู่ที่ประมาณ 1 ดอลลาร์ฯ ซึ่งก็ยังคุ้มค่าที่จะดำเนินการ